ผุดอาคาร “สติภาวนา” วันมาฆบูชา วันเปิดตัวพระพุทธศาสนา วันเปิดตัวสถาบันสติภาวนาเพื่อสันติภาพ

0
1038

 

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ณ หมู่บ้านช่อสะอาดต้นแบบ หรือหมู่บ้านสันติภาพ จังหวัดศรีสะเกษ พระราชกิตติรังสี (บุญทัน สนฺตจิตฺโต) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ เจ้าอาวาสวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม เป็นประธานพิธีวางฤกษ์เสาเอก อาคารสติภาวนา ซึ่งเป็นอาคารหลักของสถาบันสันติภาวนาเพื่อสันติภาพ มี ดร.ปัญญา หาญลำยวง อธิบดีกรมพลศึกษา เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์  โดยมีคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไปกว่า 500 รูป/คน ร่วมพิธี

………………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………….

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการสถาบันภาษา และผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.กล่าวว่า การเปิดตัวสถาบันสันติภาวนาเพื่อสันติภาพครั้งนี้ เริ่มต้นจากการก่อสร้างอาคารสติภาวนา เพื่อใช้อาคารแห่งนี้เป็นแหล่งในการศึกษา วิจัย ค้นคว้า พัฒนา และฝึกจิต โดยสถาบันแห่งนี้ จะใช้ กระบวนการฝึกที่มีสติเป็นฐาน (Mindfulnesd Based  Training: MBT) เพราะจากการศึกษาและวิจัยจากคัมภีร์ และการปฏิบัตินั้น พบว่า ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติ และสติปัฏฐานนั้น สติเป็นรากฐาน และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาจิตใจให้มีสมาธิ อันเป็นสภาวะของความนิ่งสงบ แน่วแน่ว ตื่นรู้  และพัฒนาจิตใจให้มีปัญญาให้เกิดโยนิโสมนสิการ และรู้แจ้ง

พระมหาหรรษา กล่าวต่อไปว่า กระบวนการฝึกจิตที่มีสติเป็นฐานนั้น จะเน้นทั้งการใช้สติฝึกจิตให้เกิดความนิ่งสงบ (Passive Mind) และเน้นใช้สติฝึกจิตให้เกิดการตื่นรู้ (Active Mind) เพราะสังคมไทยโดยทั่วไปมักจะเข้าใจว่าเป้าหมายของการฝึกจิตนั้นต้องมีสมาธิ มีความนิ่ง สงบ เย็น แต่ความหมายอีกด้านไม่ค่อยมีการขยายความ กล่าวคือ ยิ่งมีสติ ยิ่งมีสมาธิ สมาธิจิตที่ได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยสติอยู่ตลอดเวลาจะทำให้เกิดการตื่นรู้อยู่ทุกขณะ ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดสภาวะ เย็นและเป็นประโยชน์ กล่าวคือ ไม่ได้ฝึกเพื่อเย็นเท่านั้น แต่ต้องเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมด้วย

พระมหาหรรษา กล่าวอีกว่า แผนระยะที่หนึ่ง  การก่องสร้างอาคารสติภาวนาแห่งนี้ จะใช้ระยะเวลา ทั้งสิ้น 10 เดือน  โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จทันพิธีสวดมนต์ข้ามปี 2563  สำหรับทุนในการก่อสร้างจะใช้งบประมาณราว 10 ล้านบาท  ซึ่งพื้นที่ภายในมีความยาว 38 เมตร กว้าง 24 เมตร สามารถรองรับนักปฏิบัติธรรมได้ จำนวน 500 รูป/คน  และแผนระยะที่สอง จะดำเนินการก่อสร้างอาคารโดยรอบจะประกอบด้วยอาคารที่พัก จำนวน 4  หลัง แบ่งเป็นอาคารสำหรับที่พักของพระสงฆ์ จำนวน 2 หลัง อาคารที่นักปฏิบัติธรรมชาย 1 หลัง อาคารที่พักของนักปฏิบัติธรรมหญิง 1 หลัง ซึ่งแผนการก่อสร้างอาคารที่พักจะดำเนินการช่วงที่สองของการดำเนินการ

สำหรับรูปแบบของสถานที่ และการจัดวางพื้นที่นั้น จะมีลักษณะเป็น Meditation Complex เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้พื้นที่ ที่มีจำกัด อีกทั้งเป็นการประหยัดพลังงาน และนำพลังงานธรรมชาติจากระบบโซล่าเซลล์กลับมาหมุนเวียนใช้งานภายในอาคารต่างๆ  รวมถึงการหมุนเวียนนำน้ำกลับมาใช้ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบๆ อาคารในฐานะเป็นสถานปฏิบัติธรรมสีเขียวด้วย