ปลื้มปีติ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ตรัสชื่นชมผลงานหมวกกะปิเยาะ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมคาบสมุทรมลายู พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน

0
450

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังอาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ทรงทอดพระเนตร การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าทอประจำถิ่นลวดลายต่างๆ และงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ 14 จังหวัด โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ตลอดจนผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP และพสกนิกร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย (พช.) เปิดเผยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณจาก  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของไทย ด้วยพระทัยอันแน่วแน่ทรงดำเนินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมาจังหวัดนราธิวาส ทรงทอดพระเนตร การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าทอประจำถิ่นลวดลายต่างๆ และงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ซึ่งดำเนินการจัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย เพื่อเผยแพร่ผลงานศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง การพัฒนางานผ้า เครื่องแต่งกาย และงานศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่น สนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีพระทัยมุ่งมั่น แน่วแน่ในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่นมิให้สูญหายไปจากแผ่นดินไทย อีกทั้งยังก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ราษฎรให้มีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจฐานราก

ในการนี้ ระหว่างทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงชื่นชมผลงานหมวกกะปิเยาะลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ของกลุ่มอัลอิสลาม อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ว่ามีการปักลวดลายสวยงามลงตัว มีความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้ได้เหมาะสม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากลายผ้ามัดหมี่พระราชทาน และมีแนวคิดในการประยุกต์ใช้ลวดลายพระราชทาน ลงบนหมวกกะปิเยาะ ซึ่งแต่เดิมหมวกกะปิเยาะเป็นสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมในการสวมใส่หมวกของชาวอาหรับและในประเทศแถบมลายู ในอดีตที่ผ่านมาการผลิตหมวกกะปิเยาะเป็นการผลิตงานในครัวเรือน เริ่มต้นผลิต ในปี พ.ศ. 2517 ผลิตเป็นครั้งแรกในตำบลกะมิยอ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยกลุ่มผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้ไปรับจ้างเย็บหมวกกะปิเยาะอยู่ที่ซาอุดิอารเบียจนมีความชำนาญ และได้ริเริ่มนำจักรเย็บผ้า ที่เรียกว่าจักร PAFF กลับมาเย็บหมวกกะปิเยาะที่จังหวัดปัตตานี และได้รับความนิยมแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา หมวกกะปิเยาะเป็นหมวกที่ชาวไทยมุสลิมสวมใส่ประกอบศาสนกิจ (การประกอบพิธีละหมาด) และสวมใส่ในชีวิตประจำวัน เกิดจากการนำผ้าหลาย ๆ ชนิดมาตัดเย็บซ้อนกัน 3 ชั้น เย็บด้วยผ้าหลายชนิดทับซ้อนกัน และจะมีลวดลายต่าง ๆ ที่หลากหลายบนตัวหมวก ฝีมือการผลิตประณีต มีลวดลายปักและฉลุหลากหลายรูปแบบ  โดยกลุ่มอัลอิสลาม มีสมาชิกกลุ่มเป็นเยาวชนที่ว่างงานในพื้นที่ ต.คลองมานิง อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี และพื้นที่ใกล้เคียง การนำ แบบลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ มาผสมผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมคาบสมุทรมลายู ได้อย่างสวยงาม เป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า สืบสานรากเหง้าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

นายนิอิสมาแอ สะดากา ประธานกลุ่มอัลอิสลาม เปิดเผยว่า รู้สึกปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระองค์ทรงใส่พระทัยต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีความสอดคล้องตามพื้นฐานความเชื่อและอัตลักษณ์ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทรงใส่พระทัยในรายละเอียด เห็นถึงคุณค่าของงานฝีมือ ศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นของคนไทย และยังเข้าใจบริบทของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ตามหลักการ ความเชื่อ วัฒนธรรม  ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีพระวินิจฉัยพร้อมพระราชทานคำแนะนำ แนวทางการพัฒนากรรมวิธี โดยทรงเน้นให้ผู้ผลิตใช้เทคนิคการปักลวดลายด้วยมือร่วมด้วย และเก็บรายละเอียดด้านในตัวหมวกให้มีความเรียบร้อย เสมือนกับการใช้เทคนิคการปักจักร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ สวยและทันสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานคำแนะนำให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ รายอื่น ๆ ของจังหวัดปัตตานี ดังนี้ กลุ่มบาติก เดอ นารา อำเภอเมืองปัตตานี โดยนางรอวียะ หะยียามา ให้พัฒนารูปแบบผ้าบาติกโดยใช้เทคนิคผ้ามัดย้อมร่วมด้วย ให้แทรกลวดลายลงบนพื้นที่ว่างในส่วนที่เป็นสีขาวบนผืนผ้าเน้นการใช้เทคนิคเขียนมือ และมีความเข้าใจต่อพัฒนาการให้สีตาม หนังสือพระราชทาน Thai Textiles Trend Book Spring and Summer 2022 ที่ทรงพระราชทานดีแล้ว  ,กลุ่มรายาบาติก อำเภอยะรัง โดยนางสาวอานี  ชูเมือง งานบาติกเขียนด้วยจันติ้ง พัฒนาเรื่องลายเส้นให้มีความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ การให้สีผ้าบาติกที่เน้นตาม Trend Book ที่ทรงพระราชทาน ให้สีที่มีความนุ่นนวล ,ยาริงบาติก อำเภอยะหริ่ง โดยนางสาวฮัสสือเม๊าะ ดอมะ อยากเห็นการพัฒนางานเขียนบาติกด้วยลวดลายพรรณพฤกษา การไล่ระดับสีด้วยน้ำโดยไม่ต้องเกลี่ยด้วยพู่กัน เน้นการใช้สีแนวอ่อนหวานสดใส งานผ้าบาติกด้นมือควรเก็บรายละเอียดปมด้ายบริเวณด้านหลังชิ้นงานให้มีความเรียบร้อย ,ผ้าจวนตานีชนิดเส้นฝ้าย ของกลุ่มทอผ้าบ้านตรัง อำเภอมายอ โดยนางสาวสิริอร ทับนิล  นำส่งผลงานที่ทรงพระราชทานคำแนะนำให้เป็นการบ้านเมื่อคราวเสด็จจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2562 ยังพัฒนาได้น้อยมากเน้นการใช้สีธรรมชาติในการย้อมเส้นฝ้าย การพัฒนาลวดลายให้เล็กลง เขื่อนคั่นลายผ้าไม่มีแล้วตามพระประสงค์ สำหรับผ้าทอลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ รูปแบบลวดลายลงตัวดีแล้ว ให้ทอลวดลายให้เต็มผืนและส่งผลงานให้ทอดพระเนตรอีกครั้ง และผ้าไหมมัดหมี่จวนตานี ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ โดยอาจารย์ฉัตรชัย ประแก้ว ลวดลายจวนตานี และการทอดีแล้ว ให้เน้นการใช้สีธรรมชาติในการย้อม การให้สีควรให้สีหัวผ้า (สีแดง) และตัวผืนผ้าให้มีความกลมกลืนกัน การผลิตผ้าจวนตานีทั้งสองรายนี้ดำเนินการด้วยการสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพเสริมด้วยการทอผ้าและผ้าทอลายจวนตานี และการต่อยอด ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ มาประยุกต์ใช้ร่วมกันบนผืนผ้าจวนตานี หัตถศิลป์บนผืนผ้าที่บอกเล่าเรื่องราวตำนานผ้าในแถบแหลมมลายู ผ้าจวนตานีเป็นผ้าทอดั้งเดิมในพื้นที่ทางภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเดิมมีศูนย์กลางคือเมืองปัตตานีในอดีต ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่งในคาบสมุทรมลายู มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมือง มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมกับต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขาย เช่น จีน อินเดีย ประเทศในแถบอาหรับ ยุโรป และมาลายา โดยมีสินค้าประเภทผ้าไหม เส้นไหม และฝ้าย เป็นสินค้าที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนอยู่ด้วย จึงนับได้ว่าเมืองปัตตานีเป็นเมืองสำคัญในการค้าขายสินค้าผ้าไหม และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกี่ยวกับผ้าแห่งหนึ่ง  ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่ามีการใช้และการผลิตผ้า เริ่มในภาคใต้เมื่อใด แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าเริ่มมีมาก่อนราชอาณาจักรศรีวิชัยเจริญรุ่งเรือง จากการที่มีการติดต่อและการค้าขายกับประเทศจีนและอินเดียชาวพื้นเมืองของปัตตานี ที่อาจจะมีความรู้ในการทอผ้าอยู่แล้ว ได้มีการรับและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เกิดการสร้างสรรค์สิ่งทอขึ้นใหม่ ผ้าทอท้องถิ่นแบบง่ายถูกแทนที่ด้วยกรรมวิธีมัดหมี่และทอแบบประณีต ที่มีรูปแบบที่เรียกว่า “จวนตานี” หรือผ้าลิมา หรือผ้ายกตานี

นับเป็นมิ่งมงคลของ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทย ศิลปหัตถกรรมไทย และทรงห่วงใยในพสกนิกร ทรงใส่พระทัยต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ดังหมวกกะปิเยาะ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในการนำ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พัฒนา ต่อยอด ผลิตภัณฑ์ แสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมพื้นถิ่น วัฒนธรรมคาบสมุทรมลายู อันเป็นการสร้างความคึกคักให้กับวงการผ้าไทย สร้างสรรค์ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค ตลอดทั้งส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส เสมือนได้ต่อลมหายใจ ให้กับวงการผ้าไทย สามารถสร้างเศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน