ปฐมนิเทศพระใหม่ สร้างแรงบันดาลใจ “ใฝ่รู้สู่การปฏิบัติ”

0
2647

ปฐมนิเทศพระใหม่ สร้างแรงบันดาลใจ “ใฝ่รู้สู่การปฏิบัติ”

หนุ่มออฟฟิศชาวสิงค์โปร์ ฝันมาตลอดว่า ตัวเองได้บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา ในที่สุด ความฝันก็กลายเป็นจริง มุ่งมั่นตั้งใจท่องคำขานนาคเป็นภาษาบาลีอย่างคล่องแคล้ว จนบวชเป็นพระภิกษุ ที่พระอุปัชฌาย์ พระครูวรรณสารโสภณ รองเจ้าคณะอำเภอปรางค์กู่ จึงให้นาม(ฉายา)ว่า “กิตฺติภทฺโท”

อีกหนุ่มเป็นชาวไทย เรียนหลักสูตรอินเตอร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เพียรพยายามค้นหาตัวเอง ว่าจริงๆ คุณค่าและความหมายของชีวิตคืออะไร?!? เพื่อที่จะตอบโจทย์ดังกล่าว จึงตัดสินใจเข้ามาบวชภายใต้ชื่อใหม่(ฉายา)ว่า “กิตฺติธมฺโม”

 

การบวช และปฏิบัติตนในวัดบ้าน หรือวัดในเมืองกรุง จึงไม่อาจตอบโจทย์ของภิกษุหนุ่มทั้งสองรูปได้อย่างชัดแจ้ง จึงต้องอาศัยกัลยาณมิตร และสัปปายะสถานของวัดในต่างจังหวัดเป็นเครื่องกล่อมเกลาก่อนบวชเป็นระยะเวลา 10 วัน เพื่อเรียนวิถีพุทธชนบท

เมื่อบวชแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการปฐมนิเทศ เพื่อดูวิถีของพระแท้ ที่มุ่งปฏิบัติเพื่อถึงธรรมแท้ จึงได้พาไปยังวัดป่านานาชาติ สาขาวัดหนองป่าพง อุบลราชธานี  พระหนุ่มทั้งสองจึงเกิดธรรมฉันทะใฝ่การปฏิบัติ เพื่อจะได้เข้าถึงธรรมะแท้ โดยอาศัยรูปนามเป็นอุปกรณ์ในการเรียนรู้ พร้อมทั้งการจาริกธรรมเดินธุดงค์ร่วมกับ หลวงพ่อพระครูวิมลพุทธิสาร

นั่นจึงเป็นเหตุสำคัญที่จะนำพระหนุ่มทั้งสอง มุ่งสู่การปฏิบัติ ณ สถานธรรมที่เน้นสอนสติปัฏฐาน 4 ธรรมวิโรจนาราม ที่เป็นสาขาวัดงุยเตาอูกรรมฐาน เขาใหญ่ ประเทศไทย โดยจะใช้ระยะเวลาเรียนในชั้นอนุบาล เป็นระยะเวลา 20 วันเต็ม

การทำงานนอกที่สอดรับกับวิถีโลกนั้น มุ่งแสวงหากิน กาม และเกียรติ เป็นสำคัญ  แต่เมื่อรู้สึกว่า ไม่อิ่ม ไม่เต็ม ไม่เบา และไม่สงบสุข การทำงานในจึงเป็นทางเลือก ที่จะกลายเป็นรอดให้แก่ชีวิตในที่สุด แบบอย่างที่ดีที่สุดในประเด็นนี้ คือ พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังเป็นสิทธัตถะโพธิสัตว์

หวังว่า พระหนุ่มทั้งสองจะค้นคำตอบได้บ้าง แม้อาจจะไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ขอให้พบทางสะอาด สงบ และสว่างบ้าง เพื่อเป็นอุปนิสัยในการเดินตามเส้นทางสายเอกที่พุทธองค์ได้นำเสนอเอาไว้ อันเป็นหนทางแห่งการรู้ ตื่น และเบิกบาน ตามที่พระองค์เน้นว่า “พึงศึกษาความสงบเท่านั้น”

ความสงบ จึงเป็นคำตอบที่เป็น วิสัยทัศน์ (Vision) ที่พุทธศาสนิกชนทุกคนจะต้องเข้าให้ถึง หรือไปให้ถึง หากสายตาหลุดรอดจากความสงบเมื่อใด ย่อมหมายถึงการพาตัวเองพลัดหลงจากความเป็นพุทธศาสนิกชนเมื่อนั้น ธรรมะแห่งความสงบจึงทำให้อิ่ม ทำให้เย็น ทำให้เบา และทำให้สุขในที่สุด

ที่มา : พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)