นายกรัฐมนตรี-ครม.ชมกิจกรรมรณรงค์“ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม”

0
286

วธ.เชิญชวนคนไทยแต่งผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง ชุดไทยย้อนยุค พร้อมร่วมกิจกรรมกับศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ นครราชสีมาและลำปาง จัดงานเทศกาลสงกรานต์ เม.ย.นี้

​                วันที่ 5 เมษายน 2565 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมให้การต้อนรับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและสื่อมวลชน พร้อมทั้งนำชมกิจกรรมรณรงค์ประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2565 ภายใต้แนวคิด “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม” ปีพุทธศักราช 2565 ทั้งการสรงน้ำพระพุทธรูปและชมชุดรดน้ำ 4 ภาค

​                นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มุ่งขับเคลื่อน “Soft Power” ความเป็นไทยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามนโยบายรัฐบาล และวธ.มีนโยบายสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างยั่งยืน และปีนี้วธ.มีวิสัยทัศน์ใหม่คือ “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” และปรับเปลี่ยนบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ “วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน” โดยส่งเสริมการต่อยอดวัฒนธรรมด้วยการนำคุณค่าของวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สินค้าและบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรมสู่ชุมชนและประเทศ ดังนั้น วธ.ได้รณรงค์จัดกิจกรรมงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2565 ภายใต้แนวคิด “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย  สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม” ขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐ เอกชน วัดและประชาชนจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์แบบวิถีใหม่ (New Normal) เน้นเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวและสุขภาพ สืบสานประเพณีสงกรานต์ตามขนบธรรมเนียมที่ดีงาม และดำเนินกิจกรรมสงกรานต์ให้สอดคล้องกับแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2565 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ชุดใหญ่ และมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

​                รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ และประชาชนจัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในงานเทศกาลสงกรานต์เพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงาม รวมทั้งสนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรมการละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นตามแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2565 ของศบค.ชุดใหญ่ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และมาตรการของสธ. อีกทั้งวธ.ขอเชิญชวนประชาชนแต่งกายชุดสุภาพด้วยผ้าไทย ผ้าพื้นเมืองหรือชุดไทยย้อนยุค เข้าร่วมกิจกรรมสงกรานต์ เพื่อร่วมสืบสานคุณค่าและสาระอันดีงามของประเพณีสงกรานต์ เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ศาสนสถาน สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม  รดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ ส่วนกิจกรรมทางศาสนา ได้แก่  ทำบุญที่วัด สรงน้ำพระพุทธรูป ตักบาตร ขนทรายเข้าวัด พระสงฆ์ บุคลากรในวัดและประชาชนที่ไปทำบุญต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์และปฏิบัติตาม “COVID Free Setting (CFS)” อย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามมาตรการของสธ. เช่น เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร ตลอดการจัดงาน กรณีสรงน้ำพระสงฆ์และรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ให้ปฏิบัติตามมาตรการของสธ.อย่างเคร่งครัด

​                นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า การจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์นั้น ขอความร่วมมือองค์กร หน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมที่สามารถทำได้ ได้แก่ การละเล่นที่สามารถจัดได้ตามมาตรการผ่อนปรนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ การเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่จัดงานที่มีการควบคุม การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงมหรสพ ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี ตลอดจนการเปิดร้านอาหารให้ปฏิบัติตามมาตรการ CFS และมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอให้จัดงานที่โล่ง และควบคุมไม่ให้แออัดในพื้นที่จัดงานไม่เกิน 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร จัดให้มีจุดล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจล/สเปรย์แอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ และผู้เข้าร่วมงานจัดเตรียมอุปกรณ์ส่วนตัว เช่น ขันน้ำ เจลแอลกอฮอล์ อีกทั้งทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน เช่น ไมโครโฟน ทุกครั้งหลังใช้งาน งดการแสดงมหรสพที่มีฉากที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดและเข้าถึงตัวกัน เช่น ฉากแสดงความรัก โอบกอด หอม  และงดสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ชม ตลอดจนเว้นระยะห่างระหว่างเวทีและผู้ชมอย่างน้อย 2 เมตร และเว้นระยะห่างระหว่างนักดนตรีหรือนักแสดงบนเวที 1 เมตร

​                ขณะเดียวกันกิจกรรมที่ให้งด ได้แก่ การเล่นสาดน้ำในที่สาธารณะ เช่น บนท้องถนน การประแป้ง ปาร์ตี้โฟมหรือกิจกรรมที่สัมผัสใกล้ชิด และขอความร่วมมือองค์กร หน่วยงานที่เป็นผู้จัดกิจกรรมให้จัดกิจกรรมเทศกาลประเพณีสงกรานต์ให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนปรนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งงดจำหน่ายและงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในสถานที่จัดงานและสถานที่สาธารณะตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ส่วนการร่วมกิจกรรมในครอบครัว เช่น กราบไหว้ขอพรพ่อแม่ รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่  ทุกคนในครอบครัวต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวและสมาชิกครอบครัวควรตรวจ ATK ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเข้าร่วมกิจกรรมหรือไปเยี่ยมผู้สูงอายุ ซึ่งวธ.จะร่วมกับกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก สถานีขนส่งต่างๆและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนตรวจ ATK ก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา และกรณีผู้ที่มาจากต่างพื้นที่ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อต้องใกล้ชิดผู้สูงอายุ และจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี หรือที่โล่ง งดกิจกรรมสัมผัสหรือใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน  หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นเวลานาน รวมทั้งผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรมสังสรรค์และสัมผัสใกล้ชิดลูกหลาน

​                รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า  วธ.ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  และศูนย์การค้าไอคอนสยาม จัดงานประเพณีสงกรานต์ “มหัศจรรย์เจ้าพระยา มหาสงกรานต์ 2565” วันที่ 8 – 17 เมษายน 2565 ณ เจริญนคร ฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม มีกิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป การแสดงศิลปวัฒนธรรม 4 ภาค การสาธิตการทำเครื่องหอมบุหงารำไป (แห้ง) บุหงาสด  แป้งพวงกุหลาบ น้ำปรุงและน้ำอบ อีกทั้งวธ.ร่วมกับศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม” วันที่ 12-17 เมษายน 2565  มีกิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป พระพุทธรูปประจำวันเกิด  จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญในยุคสมัยต่างๆ 10 องค์ และสาธิตการทำน้ำอบไทย น้ำปรุงและร้อยพวงมาลัย พร้อมกันนี้วธ.โดยกรมการศาสนาร่วมกับวัดประยุรวงศาวาส จัดพิธีทักษิณานุปทาน เจริญพระพุทธมนต์ เเละถวายปิ่นโตแด่พระสงฆ์ เนื่องในเทศกาลประเพณีสงกรานต์วันที่13 เมษายน 2565 ณ วัดประยุรวงศาวาส

​                นอกจากนี้ วธ.ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา จัดงานประเพณี “สงกรานต์โคราชแห่พระคันธารราษฎร์ รอดซุ้มประตูเมือง” วันที่ 13-15 เมษายน 2565 ณ  อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ลานย่าโม)  รวมทั้งวธ.ร่วมกับ  จ.ลำปางจัดงาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง” ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 12 – 13 เมษายน 2565 ณ อ.เมือง จ.ลำปาง มีการอัญเชิญพระเจ้าแก้วดอนเต้า พระคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาจากวัด พระธาตุลำปางหลวงออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำขอพร ชมขบวนแห่งานบุญสลุงหลวง การแสดงการตีกลองปู่จา ชุด “มหัศจรรย์ลือลั่นสนั่นโลก” และประกวดเทพบุตร เทพธิดาสลุงหลวง รวมทั้งกิจกรรมข่วงแก้วเวียงละกอนถ่ายทอดและสาธิตภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม