นายกรัฐมนตรีมอบโล่ 32 รางวัล “สุดยอดวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งปี 2561” บุคคลแห่งปี “ตูน บอดี้สแลม-จ่าแซม – ผู้ว่าฯพะเยา – อ.เฉลิมชัย – ว.วชิรเมธี – อ.ประเสริฐ ณ นคร”

0
1127

กตัญญู…คุณค่าของคนฯ – เลิกเหล้าแล้วรวย – เพราะ “อัลไซเมอร์” ฯ, สปอต-คลิปแห่งปี “บุพเพสันนิวาส-ริมฝั่งน้ำ-หลวงตามหาชน-นาคี 2 – ๙ ศาสตรา” ละคร-หนังแห่งปี, “ปฏิบัติการถ้ำหลวง-โขนไทยมรดกวัฒนธรรมโลก-ไทยแลนด์ เบียนนาเล่” เหตุการณ์แห่งปี

วันนี้ (วันที่ 26 ธ.ค. 2561) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณสุดยอดวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งปี พ.ศ. 2561 จำนวน 32 โล่รางวัล โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

 

นายวีระ กล่าวว่า ในรอบปี พ.ศ.2561 มีผลงานสร้างสรรค์ เหตุการณ์สำคัญและบุคคลนำมาซึ่งชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการสร้างคนดี สังคมดี ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล รวมถึงพัฒนาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมนำภาพลักษณ์ไทยสู่สากล  จึงได้รวบรวมและคัดเลือกผลงานสร้างสรรค์ เหตุการณ์สำคัญและบุคคลของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นในปี พ.ศ. 2561 ประกาศเป็นสุดยอดวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งปี เพื่อเผยแพร่เหตุการณ์สำคัญ ผลงานสร้างสรรค์และยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลให้ประชาชน สังคมได้รับทราบและเป็นแบบอย่างในการสร้างคุณค่าที่ดีให้แก่สังคม โดยได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณสุดยอดวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งปี พ.ศ. 2561

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับสุดยอดวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งปี พ.ศ. 2561 ดำเนินการการคัดเลือกโดยคณะอนุกรรมการคัดเลือกสุดยอดวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งปี พ.ศ. 2561 ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวขึ้น เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกและประกาศยกย่องสุดยอดวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งปี พ.ศ. 2561 และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย โดยจำนวน  6  สาขา รวมทั้งหมด 32 รางวัล ดังนี้

1.บุคคลแห่งปี บุคคลที่มีชีวิตหรือเสียชีวิต มีผลงานเป็นที่ประจักษ์นำมาซึ่งชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศไทย และปฏิบัติตนเป็นที่ยอมรับของสังคม ได้แก่ 1)พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) พระนักวิชาการ นักคิด นักเขียน นักบรรยายธรรมและคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพและเมตตาธรรม 2)ศาสตราจารย์ ประเสริฐ  ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ราชบัณฑิตผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นผู้ชำระประวัติศาสตร์ แปลศิลาจารึก และประพันธ์คำร้องภาษาไทย เพลงพระราชนิพนธ์ อาทิ ใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต และเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  3)ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี พ.ศ. 2554 เป็นผู้สร้างวัดร่องขุน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและเป็นที่รู้จักทั่วโลก และในปี 2561 จากเหตุการณ์ปฏิบัติการถ้ำหลวงได้รวบรวมพลังศิลปินขัวศิลปะเชียงราย เขียนภาพ The Hero และสละกำลังทรัพย์จัดตั้งพิพิธภัณฑ์จ่าแซม ที่อุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จึงเป็นผู้สำนึกรักบ้านเกิดอย่างแท้จริง

4) นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย ในอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้ทำงานอย่างทุ่มเทเสียสละเป็นนักบริหารจัดการที่ดี สามารถช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำหลวงได้อย่างปลอดภัย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และ 5)นายอาทิวราห์ คงมาลัย  (ตูน บอดี้สแลม) ศิลปินนักร้อง นักแต่งเพลง เป็นต้นแบบของเด็กเยาวชนและประชาชนในการช่วยเหลือสังคม มีผลงานที่โดดเด่นในโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อระดมทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และสร้างโรงพยาบาล เป็นเงินกว่า 1,148 ล้านบาท ทำให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง  6)นาวาตรี สมาน กุนัน (จ่าแซม) นักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ เป็นผู้มีจิตอาสา เมื่อเกิดเหตุการณ์ช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง โดยได้อาสามาช่วยเหลือ เพื่อวางอุปกรณ์ ลำเลียงอาหาร ถังอากาศ และอุปกรณ์ที่จำเป็น ซึ่งจ่าแซมได้นำถังอากาศไปวางตามตำแหน่งบริเวณสามแยกภายในถ้ำหลวง ขณะดำน้ำได้หมดสติและเสียชีวิตลง นับเป็นผู้กล้า ผู้เสียสละ ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยน้ำใจและไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เพื่อช่วยชีวิตเด็กให้รอดปลอดภัย จึงเป็นวีรบุรุษแห่งถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนที่ยิ่งใหญ่

2.สปอตสร้างสรรค์แห่งปี โดยสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย หรือสื่อเพื่อการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกค่านิยมที่ดี ได้แก่ 1) ตราบาปแห่งการสูญเสีย 2) ไขมันเริ่มสลาย เมื่อออกกำลังกายต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป 3) เลิกเหล้าแล้วรวย  4) ซื้อขายเสียงและ5) น่าน แซนด์บอกซ์  และ3.คลิปวีดิโอสร้างสรรค์แห่งปี โดยสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย หรือสื่อเพื่อการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกค่านิยมที่ดี ได้แก่ 1) เพราะ“อัลไซเมอร์”ไม่ใช่แค่ความจำเสื่อม 2)กตัญญู…คุณค่าของคนวัดกันที่อะไร 3) พ่อของหนูเท่ที่สุด 4) แม่เป็นที่เท่าไหร่ในใจคุณ และ(5)สอนลุงเป็นครั้งสุดท้าย…ได้ไหม 4.ละครโทรทัศน์สร้างสรรค์แห่งปี มีความโดดเด่นด้านการละคร ทรงคุณค่าในทางศิลปะ สะท้อนชีวิตและความเป็นไทย ได้แก่ 1) บุพเพสันนิวาส 2) ริมฝั่งน้ำ  3) ศรีอโยธยา 4)หลวงตามหาชน และ5)ละครชุดแม่ผู้สร้าง เรื่อง“สายใยรักแห่งแผ่นดิน” 5.ภาพยนตร์ไทยสร้างสรรค์แห่งปี โดยส่งเสริมและสร้างสรรค์ความเป็นไทย ค่านิยมที่ดีงาน ทรงคุณค่าทางศิลปะและกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ชม ได้แก่ 1)นาคี 2 (ชีวิต) 2) ๙ ศาสตรา(แฟนตาซี/ชีวิต) 3) 2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว(สารคดี) 4)BNK48 Girls Don,Cry และ5)มะลิลา (ชีวิต)

6.เหตุการณ์สำคัญแห่งปี เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2561 ที่สร้างสรรค์และส่งผลเชิงบวกต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ตลอดจนกระแสนิยมต่างๆ ที่ประชาชนรับรู้ ได้แก่ 1)ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนโขนไทยเป็นมรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561 ยูเนสโกประกาศให้การแสดงโขนในประเทศไทย “Khon masked dance drama in Thailand” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ประเภทรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงทำนุบำรุงและพัฒนาต่อยอดให้โขนมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น และเป็นก้าวสำคัญของไทยในการธำรงไว้ซึ่งมรดกศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติสู่มรดกโลก 2) ยูเนสโกประกาศให้ฟิล์มกระจกเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก โดยประกาศให้ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจก ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ จำนวน 35,427 แผ่น เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เป็นการบันทึกภาพบุคคล เหตุการณ์สำคัญ สถานที่ต่างๆ ในยุคสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตและเหตุการณ์สำคัญในอดีต

3)ปฏิบัติการถ้ำหลวง : บันทึกวาระแห่งโลก จากเหตุการณ์ 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวง– ขุนน้ำนางนอน รัฐบาลได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และด้วยพระเมตตาและมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ทรงห่วงใยและพระราชทานความช่วยเหลือและขวัญกำลังใจตลอดการปฏิบัติงาน ทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งเหตุการณ์นี้นับเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก ทำให้ทั่วโลกได้เรียนรู้ถึงการทำงานร่วมกันอย่างมีสติ มีการวางแผนอย่างรอบคอบ แข่งกับเวลาและความสามัคคีของการปฏิบัติการร่วมกัน 4)เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติระดับโลก ภายใต้ชื่อ “Thailand Biennale, Krabi 2018” เป็นการจัดงานระดับโลกครั้งแรกในส่วนภูมิภาคของไทย มีศิลปินจากทั่วโลกกว่า 60 คน และศิลปินจากพื้นถิ่นทั่วประเทศ ร่วมจัดแสดงผลงานศิลปะกลางแจ้ง และเนรมิตจ.กระบี่ให้เป็นเมืองศิลปะ ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.2561 – 28 ก.พ.2562

5)เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 “Bangkok Art Biennale 2018”  มีศิลปินจากทั่วโลกร่วมจัดแสดงผลงานศิลปะที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่อันหลากหลาย ทั้งอาคารประวัติศาสตร์ วัดสำคัญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา งานศิลป์ในห้างสรรพสินค้าและหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.2561  – 3 ก.พ.2562 6)สวดมนต์ข้ามปีถวายพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วโลก ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีธรรม พ.ศ.2562 เป็นการปรับเปลี่ยนค่านิยมโดยเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการลด ละ เลิก อบายมุข เพื่อต้อนรับสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นตลอดปี 2562 และเพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 สร้างความเป็นสิริมงคลแก่ประเทศด้วย

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐