ทึ่ง !! วัดสุทธิฯวัดแรกในไทยใช้สาร “ไกอา” เผาศพ ลดสารก่อมะเร็ง “ไดออกซิน” ได้อย่างดีเยี่ยม เริ่มใช้จริงวันที่ 28 ม.ค.นี้ มีญาติสมัครใจใช้แล้ว 2 ศพ

0
2668

วันนี้ (27 ม.ค.62) พระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร) เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม ในฐานะผอ.สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) กล่าวว่า ทางวัดได้เริ่มดำเนินการโครงการฌาปนกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม หรือ Green Temple (กรีน เทมเปิล) เนื่องจากยอมรับว่าการเผาศพ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหามลพิษ จึงได้ร่วมกับนายมีชัย ภัทรเปรมเจริญ นิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา มจร. ดำเนินการโครงการดังกล่าว ซึ่งนายวิชัย เคยร่วมอยู่ในทีมวิจัยของมจร. กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) เมื่อปี 2559 ที่วิจัยถึงแนวทางการแก้ปัญหาสารพิษไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ โดยในการวิจัยได้ใช้สารไกอา (GAIA) หรือสารวิมุตติ มาแก้ปัญหา ซึ่งพบว่าได้ผลเป็นอย่างดี ดังนั้นทางวัดสุทธิฯ จะนำสารดังกล่าวมาใช้ในการเผาศพ โดยจะเริ่มใช้ครั้งแรกในวันที่ 28 ม.ค.นี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือโดยความสมัครใจของญาติผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ศพ เวลาประมาณ 12.00 น. กับเวลา 16.00น. ซึ่งถือว่าเป็นวัดแรกในประเทศไทยที่นำสารดังกล่าวมาใช้แก้ปัญหามลพิษที่เกิดจากการเผาศพอย่างจริงจัง

ด้านนายมีชัย กล่าวว่า สารไกอาเป็นสารที่ผลิตมาจากแร่โอลิวีน ซึ่งเป็นแร่ภูเขาไฟพบในประเทศญี่ปุ่น มีองค์ประกอบหลักเป็นแมกนีเซียมออกไซด์ มีคุณสมบัติในการจับคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นตัวดูดซับที่สามารถนำมาใช้กำจัดสารเคมีได้หลายชนิด โดยสารแมกนีเซียมออกไซด์นี้มีคุณสมบัติสามารถกักโลหะหนักไว้ในโครงสร้างผลึกได้ และไดออกซินเป็นโลหะหนักชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่น เผาศพ เผาขยะ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อปี 2559 จึงร่วมวิจัยกับนายโกนิฏฐ์ ศรีทอง ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ มจร. และคณะผู้วิจัยจากมจร. และมจพ. วิจัยเมื่อเดือนเม.ย. – ต.ค.2559 ที่วัดด่านสำโรง จ.สมุทรปราการ โดยทดลองกับ 4 ศพ ศพแรกไม่ได้ใช้สารไกอา พบสารไดออกซินหลังการเผาศพอยู่ที่ 1.302 นาโนกรัม ซึ่งสูงกว่า 0.5 นาโนกรัมที่เป็นมาตรฐานที่กำหนดในประเทศไทย แต่พอนำสารไกอามาทดลองกับศพที่ 2 โดยนำสารไกอาวางบนศพ พบว่า สามารถลดสารไดออกซินเหลือ 0.47 นาโนกรัม ต่อมาศพที่ 3 และ4 นำสารไกอามาใส่ถุงขนาดเล็ก เย็บติดกับผ้าห่มศพ รวมปริมาณ 3 กิโลกรัม พบว่าได้ผลดีมากขึ้น ลดสารไดออกซินได้เหลือ 0.123, 0.098 นาโนกรัม ตามลำดับ ซึ่งสารไดออกซินนี้ เป็น 1 ใน 9 สารก่อมลพิษจากการเผาไหม้ และยังเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

นายมีชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินการที่วัดสุทธิฯนั้น ได้หารือกับทางเจ้าอาวาสแล้วว่าจะนำสารไกอามาใส่ถุงขนาดเล็ก เย็บติดกับผ้าห่มศพ จากนั้นจึงนำไปเผาพร้อมกัน โดยหลังจากที่เริ่มดำเนินการในวันที่ 28 ม.ค.แล้ว ทราบมาว่า ทางวัดสุทธิฯ จะใช้วิธีนี้ในการเผาศพ แต่ให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของญาติผู้เสียชีวิต ขณะที่ในส่วนของสารไกอานั้น จะต้องมีการสั่งนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามได้หารือกับทางพระสุธีรัตนบัณฑิต ซึ่งท่านเป็นผอ.สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ของมจร.อยู่ด้วย ในการสนับสนุนให้นักวิจัยไทยหาสารที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสารไกอา เพื่อนำมาใช้ทดแทนกัน และยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าด้วย