ที่ประชุมเครือข่ายวัฒนธรรม เสนอรัฐ 16 ข้อ แผนปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม

0
446

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.63 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และอนุกรรมการปฏิรูปด้านวัฒนธรรม จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อแผนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม ณ โรงแรมรามาดา บายวินแดม แบงคอก เจ้าพระยาปาร์ค เขตดินแดง กทม. โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานอนุกรรมการด้านวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วยกลุ่มเป้าหมายได้แก่ หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ศิลปิน ผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรม นักวิชาการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ฯลฯ  จำนวน 120 คน ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุม ดังนี้

1) ควรมีการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างแท้จริงในการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปด้านวัฒนธรรม

2) ควรมีการส่งเสริมเอกลักษณ์ความเป็นไทย เช่น การแต่งกายด้วยผ้าไทย เป็นต้น

3) ควรส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสในการเข้าถึงงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้มากที่สุด

4) ควรมีส่งเสริมความนิยมไทย ให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับเกาหลี จีน เป็นต้น

5) ควรมีการปรับ/แลกเปลี่ยนทัศนคติของผู้ที่ดำเนินงานด้านวัฒนธรรมเพื่อให้เข้าใจถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคมไทย

6) ควรมีการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ชาวบ้านในชุมชนให้สามารถนำเสนอสินค้าบริการทางวัฒนธรรมในชุมชนของตนเองได้อย่างมืออาชีพ โดยใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม

7) ควรมีการกำหนดเนื้อหาด้านวัฒนธรรมในระดับชาติที่จะดำเนินการส่งเสริมเผยแพร่ในแต่ละปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนในประเทศได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นแบบอย่างในการดำเนินงานในเนื้อหาด้านวัฒนธรรมในประเด็นอื่นๆ ต่อไป

8) ควรมีการสนับสนุนการจัดทำตัวละคร character ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยโดยเฉพาะ

9) ควรมีหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบงานด้านแอนิเมชั่นโดยเฉพาะ

10) ควรมีการสนับสนุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมให้เกิดความต่อเนื่อง

11) ควรให้มีการชำระประวัติศาสตร์ ศิลปะใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันทั้งประเทศ ให้เด็กและเยาวชนเข้าใจได้ง่าย รวมถึงการทำความเข้าใจของต่างชาติด้วย

12) ควรมีการส่งเสริมด้านเงินทุนให้กับผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรม และควรจัดฝึกอบรมให้แก่เด็กหรือบุคคลที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรม

13) ควรมีมัคคุเทศก์ที่เป็นมืออาชีพด้านวัฒนธรรม

14) ควรส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่ประชาชนสามารถส่งผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม เช่นศิลปะ บทความ รูปภาพ ทางวัฒนธรรม เข้าประกวดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชารับรู้อย่างทั่วถึง

15) ควรจัดให้มีการเรียนการสอนในวิชาหน้าที่พลเมืองทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา

16) ควรส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลกลางทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาต่อยอดงานวัฒนธรรม