ทต.บ้านใหม่ ร่วมกับ “หลวงพี่น้ำฝน” เตรียมฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์วัดกก (ร้าง)

0
1350

ทต.บ้านใหม่ ร่วมกับ “หลวงพี่น้ำฝน” เริ่มฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์วัดกก (ร้าง)  

‘เทศบาลตำบลบ้านใหม่ ร่วมกับ ‘หลวงพี่น้ำฝน’ ขอเชิญชวนญาติโยมร่วมพิธีบวงสรวงบูชาเทพยดา โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดกก (ร้าง) อ.เมืองปทุมธานี อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นประธานในพิธี วันที่ 20 ส.ค. 2562 เวลา 09.09 น.

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม เผยว่า ในวันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2562 เวลา 09.09 น. ขอเชิญชวนญาติโยมพุทธศาสนิกชนทั้งหลายร่วมพิธีบวงสรวงบูชาเทพยดา ในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดกก ซึ่งเป็นวัดร้างที่มีมาแต่ครั้งโบราณ ตั้งอยู่ ณ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เพื่อความเป็นสิริมงคล สำเร็จราบรื่นสืบต่อไป ในการดังกล่าวนี้มี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นประธานในพิธี เวลา 10.09 น. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์ เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล เวลา 12.00 น. ญาติโยมร่วมรับประทานอาหารโดยพร้อมเพรียงกัน พร้อมรับแจกวัตถุมงคลตำรับหลวงพ่อพูล

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ กล่าวว่า การบูรณปฏิสังขรณ์วัดกก ซึ่งถือเป็นวัดร้างในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะญาติโยมพุทธศาสนิกชนชาวตำบลบ้านใหม่ทุกท่าน ที่ต่างเห็นดีเห็นงามกับการฟื้นฟูวัดขึ้นมา เพื่ออนาคตในภายภาคหน้า จักได้ใช้ในการประกอบกิจกรรมในทางพระพุทธศาสนา เช่น การทำวัตรสวดมนต์ การปฏิบัติธรรม การเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบต่อไป อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ท่านเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) เพื่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการรังสรรค์พัฒนาต่อยอดสังคม ชุมชน ท้องถิ่น เพราะเมื่อมีวัดทุกคนก็จะมีโอกาสได้ทำบุญทำทานสานต่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม เป็นการต่อยอดทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและถาวรวัตถุให้เกิดความเจริญงอกงามสืบต่อไป และที่สำคัญงานนี้จักสำเร็จได้ ก็ต้องขอขอบคุณเทศบาลตำบลบ้านใหม่ ที่ถือเป็นกำลังหลักในการผลักดันให้เกิดโครงการนี้ ได้ให้ความอนุเคราะห์อำนวยความสะดวกในทุกกรณี เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายอย่างถ่องแท้

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า วัด ตามกฎหมายสงฆ์มีสองอย่างคือ หนึ่ง วัดที่ได้รับวิสุงคามสีมา เป็นวัดที่สมบูรณ์สามารถประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทหรือรับกฐินได้ วัดประเภทนี้มีการแบ่งเขตพุทธาวาส สังฆาวาสไว้อย่างชัดเจน  วัดอีกประเภทหนึ่งคือ  สำนักสงฆ์ซึ่งวัดประเภทนี้อาจจะมีโบสถ์  วิหาร ศาลาการเปรียญแล้ว  แต่ยังมิได้พระราชทานวิสุงคามสีมาที่ใช้เป็นเขตประกอบสังฆกรรม แต่ก็ถือว่าเป็นวัดที่ถูกต้อง วัดที่ไม่ถูกต้องเรียกว่า ที่พักสงฆ์

นอกจากนี้วัดไทยยังแบ่งประเภทออกเป็นสองประเภท หนึ่งคือวัดราษฎร์ หนึ่งคือวัดหลวง หรือพระอารามหลวง ซึ่งทั้งสองประเภทมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไปทั้งฐานะของวัดและคุณสมบัติของเจ้าอาวาส แต่สำหรับวัดร้าง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กล่าวว่า วัดใดเป็นวัดร้างที่ไม่มีพระภิกษุอยู่อาศัย ในระหว่างที่ยังไม่มีการยุบเลิกวัดให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาวัดนั้น รวมทั้งที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และทรัพย์สินของวัดนั้นด้วย

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีหน้าที่ดูแลวัดร้าง ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนวัดร้าง การรังวัดออกโฉนดที่ดินวัดร้าง ตลอดจนสามารถนำที่ดินวัดร้างมาจัดประโยชน์ให้ชาวบ้านเช่าอยู่อาศัย หรือเป็นที่ตั้งของส่วนราชการหรือโรงเรียน

ที่ดินวัดร้างใช่ว่าจะนำมาให้เช่าทำประโยชน์ได้อย่างเดียว ทั้งนี้ เพราะวัดร้างยังมีสภาพความเป็นวัดอยู่  เมื่อประชาชนมีหนังสือถึงเจ้าคณะอำเภอหรือนายอำเภอแห่งท้องที่ที่วัดร้างนั้นตั้งอยู่ ว่าตนมีศรัทธาที่จะบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้างนั้นให้เป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา  โดยแสดงหลักฐานว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้างนั้นให้เป็นวัดมีพระภิกษุมาอยู่จำพรรษาได้ และจะจัดให้พระภิกษุอยู่อาศัยและจำพรรษาในวัดได้ ไม่น้อยกว่าสี่รูป ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มีหนังสือต่อเจ้าคณะอำเภอหรือนายอำเภอ

เมื่อเจ้าคณะอำเภอหรือนายอำเภอได้รับคำร้องแล้ว จะได้ร่วมกันพิจารณาคุณสมบัติของวัดร้างนั้นว่าเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้หรือไม่ คือ วัดร้างนั้นอยู่ในสภาพที่สมควรเป็นที่อยู่อาศัยและจำพรรษาของพระภิกษุมีประชาชนในละแวกใกล้เคียงจำนวนมากพอที่จะทำนุบำรุงวัดให้เจริญได้ ตั้งอยู่ห่างจากวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาไม่ต่ำกว่า 2 กิโลเมตร เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร  มีที่ดินพอที่จะขยายให้วัดเจริญได้ซึ่งไม่ต่ำกว่า 6 ไร่ เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น เมื่อพิจารณาคุณสมบัติแล้ว เห็นว่าผ่านเกณฑ์ดังกล่าว เจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอลงนามเห็นชอบ เสนอผ่านเจ้าคณะจังหวัด ตามแบบฟอร์มการขอยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา เสร็จแล้วเสนอเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทำความเห็นเสนอสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้พิจารณารายงาน การขอยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา เสร็จแล้ว จึงนำเสนอมหาเถรสมาคม(มส.) เพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นชอบแล้ว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะได้ประกาศยกวัดร้างนั้นขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาอย่างถาวรสืบต่อไป