ถกเข้ม ปรับหลักสูตรการอบรมพระธรรมทูต แก้ปัญหาการใช้ภาษาสอนกรรมฐาน-บรรยายธรรม เน้นสร้างพระธรรมทูตใจสิงห์

0
2537

เมื่อวันที่ 5 มกราคม เวลา 15.00 น. ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ร่วมกับ สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา กรมการศาสนา(ศน.) พระธรรมทูตในอินเดีย-เนปาล จัดให้มีการประชุมเตรียมความพร้อมคณะกรรมการอำนวยการและดำเนินงานโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 24 ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยมีพระธรรมปัญญาบดี นายกสภามหาวิทยาลัย มจร. อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ เป็นประธานเปิดการประชุม

 

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตโต) กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดี มจร. กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมวันนี้เป็นการประชุมร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับพระธรรมทูตสายต่างประเทศ เพื่อกำหนดขอบข่ายนโยบายการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ รุ่นที่ 24 มีจำนวน 89 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช และถวายพระชัยมงคลแด่พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูล โดยที่ประชุมได้กำหนดกิจกรรมว่า จะต้องเข้าเรียนภาควิชาการเรียนรู้ประเทศที่พระธรรมทูตจะไป ทั้งด้านวัฒนธรรมในดินแดนต่างๆ และการใช้ภาษา โดยนำตัวอย่างจากประสบการณ์พระธรรมทูตรุ่นก่อนๆ นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นพ้องว่า เรื่องสอนกรรมฐาน การกำหนดวิธีการสอนซึ่งจะต้องใช้วีดีโอหรือวีดีทัศน์ภาษาต่างๆ ประกอบการสอนด้วย และจะต้องไปเข้าอบรมและหาประสบการณ์ อุดมการณ์เป็นระยะเวลา 10 วัน ที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เพื่อเพิ่มอุดมคติพระธรรมทูต ซึ่งการอบรมดังกล่าวนี้เชื่อว่าจะได้พระธรรมทูตใจสิงห์เพื่อการออกเผยแผ่พระศาสนาในต่างประเทศต่อไป

 

               

พระพรหมบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า การอบรมในรุ่นก่อนๆ ที่ผ่านมา ประมาณร้อยละ 80 ของผู้เข้ารับการอบรม มส.จะส่งไปเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศ อีกส่วนหนึ่งเป็นพระธรรมทูตในไทย ดังนั้น การจัดงานอบรมจึงเป็นการสนองงานคณะสงฆ์โดยรวม นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นพ้องให้การปรับปรุงหลักสูตรโดยอาศัยงานวิจัย และยังมีการพูดถึงการติดตามพระธรรมทูตนับตั้งแต่การอบรมรุ่นที่ 1 ปี 2538 จนถึงรุ่นที่ 24 ปีปัจจุบัน เมื่อจบไปแล้วท่านไปทำอะไร ที่ไหน ให้มีการทำวิจัยรวบรวมผลงานเพื่อถอดแบบในในการปฏิบัติหน้าที่ของพระธรรมทูตในแต่ละสาย นำมาเป็นต้นแบบให้พระธรรมทูตรุ่นใหม่ได้ศึกษาถึงความสำเร็จของท่านเหล่านั้น

“ความสำเร็จของพระธรรมทูตรุ่นแรกคือ พระอุบาลี สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เดินทางไปเป็นพระอุปัชฌาย์บวชสามเณรสรณังกร ต่อมาท่านได้เป็นพระสังฆราช ทำให้เกิดนิกายใหญ่ที่สุดในศรีลังกา คือนิกายสยามวงศ์ หรือสยามปาลีมหานิกาย ส่วนพระอริยะมุนีที่ไปด้วยได้กลับมาและได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ของพระธรรมทูตที่ได้มีการพูดกันถึงในเรื่องนี้ด้วย” พระพรหมบัณฑิต กล่าว

ด้านพระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว โชติโก) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร. กล่าวว่า มจร. เป็นหน่วยงานหลักจัดอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ จัดอบรมมาแล้ว 23 รุ่น ด้วยหลักสูตร 3 เดือน สำหรับรุ่นที่ 24 นี้ กำลังเปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 14 ก.พ. นี้ พระภิกษุสงฆ์ที่สนใจสมัคร หรือพุทธศาสนิกชนที่ต้องการเป็นเจ้าภาพอุปถัมภ์โครงการ สอบถามได้ที่ โทร.035-248-000 ต่อ 8428, 8429   หรือ 0-2623-5368