X

“ซินดี้” จับมือ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จี้สตช. สนใจปัญหาลวนลามคุกคามทางเพศ ช่วงสงกรานต์ ย้ำอย่าให้เป็นเทศกาลปล่อยผี

อย่าปล่อยให้คนทำผิดกฎหมายลอยนวล  ชงตั้งจุดรับแจ้งเหตุช่วยเหลือในพื้นที่เล่นน้ำ วอนผู้เสียหายอย่านิ่งเฉย ประชาชนช่วยเฝ้าระวัง

วันนี้ (3เมษายน 2562)  ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส.สิรินยา บิชอพ หรือ “ซินดี้” ดารานักแสดง ในฐานะเจ้าของแคมเปญ Don’t  tell me how  to dress ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายเด็กและเยาวชน และตัวแทนกลุ่มผู้เคยถูกคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)  ผ่านทาง พันตำรวจเอกสมชาย ว่องไวเมธี รองผู้บังคับการกองอุทธรณ์  เพื่อนำเสนอปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์

น.ส.สิรินยา กล่าวว่า หลายฝ่ายเริ่มออกมารณรงค์ลดอุบัติเหตุ เมาไม่ขับเทศกาลสงกรานต์ แต่อีกหนึ่งปัญหาที่น่าห่วงคือสิ่งที่ทำให้กลายเป็นสงกรานต์เสื่อม คือ การลวนลามคุกคามทางเพศ ละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งตนเองก็เคยตกเป็นเหยื่อถูกลวนลามในช่วงสงกรานต์ ขณะเดียวกันผลสำรวจความคิดเห็นต่อเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,650 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือ ร้อยละ 59.3 เคยถูกฉวยโอกาสถูกลวนลามคุกคามทางเพศ  ทั้งถูกจับแก้ม เบียดเสียด จับมือ จับแขนและใช้สายตาจ้องมองแทะโลม ไปจนถึงถูกสัมผัสร่างกาย ล้วงอวัยวะ

“ที่มาวันนี้ เพื่อต้องการให้สตช.ซึ่งมีบทบาทในการกำกับดูแลและมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา เร่งรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้โทษทางกฎหมาย  หากกระทำการลวนลามคุกคามทางเพศ การละเมิดสิทธิผู้อื่น เพื่อป้องปรามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ขอให้ในแต่ละแห่งที่จัดให้มีพื้นที่เล่นน้ำ  ต้องมีการกำหนดจุดรับแจ้ง ระงับเหตุให้เป็นรูปธรรม โดยประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงจังหวัดต่างๆ เพื่อบูรณาการรูปแบบการช่วยเหลือที่เป็นระบบและทันท่วงที  รวมไปถึงการเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ถูกกระทำอย่างถูกต้อง” ซินดี้ กล่าว

ขณะที่นางสาวจรีย์  ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  กล่าวว่า จากผลสำรวจข้างต้นชี้ชัดว่า  เหตุการณ์ที่ผู้ประสบปัญหาเคยเจอในช่วงสงกรานต์ คือ ถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา แถมยังบังคับให้ดื่มสุรา ร้อยละ 22.8 นอกจากนี้ยัง มีปัญหาการทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ  และหากมองในมิติของอุบัติเหตุ ก็ยิ่งชัดเจนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ  ในการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ  โดยพบว่ากว่าร้อยละ 40 ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นช่วงสงกรานต์ มาจากน้ำเมา

“เพื่อให้ปัญหาถูกนำไปแก้ไข อยากเรียกร้องให้ สตช.บังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551โดยเฉพาะในเรื่องการห้ามขายให้กับคนเมา การขายให้เด็กและเยาวชน เนื่องจากจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทั้งการกระทำการคุกคามทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุ รวมถึงการทะเลาะวิวาท ตลอดจนร่วมกันดำเนินการเฝ้าระวังในพื้นที่เล่นน้ำ (Zoning) สงกรานต์ให้ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแท้จริง  นอกจากนี้ ในกรณีเกิดความผิดการล่วงละเมิดทางเพศ ทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุจราจร ที่ผู้ก่อเหตุอยู่ในอาการมึนเมาครองสติไม่ได้หรือเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ขอให้สอบสวนไปให้ถึงผู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กและคนเมาครองสติไม่ได้นั้นด้วย ตามความผิดมาตรา 29  ซึ่งจะเป็นยกระดับความรับผิดชอบของผู้ขายให้มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ในส่วนปัญหาการคุกคามทางเพศก็อยากฝากถึงประชาชนให้ช่วยกันเฝ้าระวังเป็นหูเป็นตา และช่วยกันแจ้ง เพื่อมิให้ผู้ก่อเหตุย่ามใจกระทำกับคนอื่นอีก  การนิ่งหรือเงียบเฉยจะไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร ปัจจุบันในพื้นที่เล่นน้ำจุดสำคัญๆ ส่วนใหญ่จะมีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่จำนวนมาก ก็จะช่วยในการดำเนินคดีกับคนก่อเหตุได้ไม่ยาก” นางสาวจรีย์ กล่าว

 

 

thairnews: