ชี้ทำบุญใส่บาตรด้วยตัวเองมีอานิสงส์มากกว่า แต่ต้องครบทานสมบัติ 3 ประการ

0
416

ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ ยก “ทานสมบัติ” อธิบายชัด จ้างคนอื่นใส่บาตรก็ได้บุญ แต่หากทำบุญใส่บาตรด้วยตัวเองจะเกิดอานิสงส์มากกว่า

พระครูปลัดกวีวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ในฐานะรองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีการจ้างให้ร้านสังฆภัณฑ์ใส่บาตรแทน ว่า ถามว่าจ้างคนอื่นให้ใส่บาตรนั้นได้บุญหรือไม่ ก็ตอบเลยว่าได้บุญแน่นอน เพียงแต่ขอให้เป็นไปตามเงื่อนไขในการให้ทานในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าทานสมบัติ 3 ประการ  คือ 1.เขตสมบัติ (บุญเขต) ถึงพร้อมด้วยปฏิคาหก หรือผู้รับทาน เป็นผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยคุณธรรม 2.ไทยธรรมสมบัติ (ไทยธรรม) ถึงพร้อมด้วยสิ่งที่ให้เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยชอบธรรม และเหมาะสมเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ และ 3.จิตตสมบัติ (เจตนา) ถึงพร้อมด้วยความตั้งใจ คิดจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับแท้จริง มีเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง 3 กาล คือ ก่อนให้ใจยินดี ขณะให้จิตผ่องใส ให้แล้วเบิกบานใจ หากทำได้เช่นนี้ให้ท่านที่ได้สร้างบุญมั่นใจได้ว่าได้รับบุญอย่างแน่นอน

รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์ฯ กล่าวต่อไปว่า แต่หากถามว่าระหว่างการทำบุญด้วยตนเองกับให้ผู้อื่นทำบุญให้นั้น อะไรมีอานิสงส์มากกว่ากัน เรื่องนี้ก็มีให้เห็นมาอย่างยาวนาน ขอยกเอาตัวอย่างในสมัยพุทธกาล เช่น พระเจ้าปายาสิ เป็นพระราชา ฝากคนใช้ใส่บาตรกับพระภิกษุ พระเจ้าปายาสิเกิดกุศลจิตคิดจะให้ แต่ไม่เคารพในทาน สักว่าให้ และฝากคนอื่น ก็ได้ผลของกุศล แต่เกิดในสวรรค์ชั้นที่ 1 คือ จาตุมหาราชิกา ส่วนคนใช้ที่ถวายด้วยมือของตน ซึ่งพระเจ้าปายาสิฝากให้ถวายพระ ได้เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่สูงกว่า เพราะความเคารพในทาน จิตละเอียดกว่า และให้ด้วยมือของตน แต่ทั้งสองก็เกิดกุศลจิตทั้งคู่ ดังนั้นการที่เกิดประเด็นการสนใจเรื่องนี้มาในสังคมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ชาวพุทธยุค New Normal จะได้ทำการศึกษาหาความรู้เรื่องใกล้ตัวในพระพุทธศาสนา เพราะการใส่บาตรทุกวันนั้นย่อมได้รับอานิสงส์ 5 ประการตามพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ 1.เป็นที่รักของผู้คนทั้งหลาย 2.คนดีมีปัญญาย่อมชอบคบค้าสมาคมด้วย 3.มีชื่อเสียงที่ดีงาม 4.เป็นผู้ไม่ห่างไกลธรรม และ 5.เมื่อตายแล้วย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ นอกจากนั้นประโยชน์ของการใส่บาตรทางอ้อมก็ยังเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของเราเอาไว้  และประการสำคัญยังเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์สามเณรต้องอยู่ด้วยการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ถ้าไม่มีใครใส่บาตรก็ไม่มีอาหาร เมื่อไม่มีอาหารย่อมไม่อาจดำรงชีพอยู่ได้ แล้วพุทธศาสนาก็อาจจะเสื่อมถอยลงได้