ชาวปทุมฯ พร้อมภักดิ์ ขับเคลื่อนศีล ๕ เฉลิมพระเกียรติ ๖๖ พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มุ่งสร้าง ๖๖ โรงเรียนต้นแบบ สู่ประเทศไทย ๔.๐

0
3008

วานนี้ (วันศุกร์ที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑) เวลา ๑๔.๐๐ น. พระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ เพื่อวางแผนการดำเนินงาน “โครงการ ๖๖ ห้องเรียนต้นแบบ และห้องเรียนต้นแบบ รักษ์บวร รักษ์ศีล ๕ ปทุมธานี สู่ประเทศไทย ๔.๐”  ปีการศึกษา ๒๕๖๑ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๖๖ พรรษา (๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๑) ซึ่งเป็นหนึ่งในการยกระดับโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” ตามแผ่นยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคม(มส.) และ “ชุมชนคุณธรรม” ตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี โดยมีเจ้าคณะอำเภอ, พระเลขานุการฯ, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.), สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด(สวจ.) ปทุมธานี, ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา, ผู้บริหารองค์กรภาคเอกชน, และองค์กรภาคีเครือข่าย “รักษ์บวร รักษ์ศีล ๕ ปทุมธานี” เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี วัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

พระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการฯว่า การมุ่งฝึกฝนทรัพยากรบุคคลให้เป็นผู้ที่รักการเรียนรู้ รักการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ โดยเริ่มต้นที่ตนเอง การรู้จักสังเกต สามารถคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ การฝึกฝนพัฒนาตนให้มีอุปนิสัยดีตามหลักศีลธรรม มีความรับผิดชอบต่อบวร คือ บ้าน วัด และโรงเรียน ที่เป็นเครือข่ายชุมชนของตน การอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยสันติสุข การมีมารยาทไทย รู้จักใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา โดยเฉพาะการปฏิบัติตามหลักการรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อ ซึ่งเป็นการคงคุณค่าศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการร่วมมือขององค์กรภาคีเครือข่ายบวรจังหวัดปทุมธานี ในการดำเนินงานตามโครงการฯ เพื่อรวมใจภักดิ์ บวรปทุมธานีรักษ์ศีล ๕ เฉลิมพระเกียรติ ๖๖ พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อีกทั้งยังเป็นการดำเนินงานขยายผลต่อเนื่องมาจากโครงการห้องเรียนต้นแบบฯ ที่ได้ดำเนินการเมื่อปีการศึกษาก่อน ซึ่งปรากฏผลตอบรับและผลสัมฤทธิ์เป็นอย่างดียิ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนองตามแนวทางมติมส. ในการยกระดับขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาหมู่บ้านรักษาศีล ๕ และโครงการชุมชนคุณธรรม ของวธ. เชิงคุณภาพ ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

สำหรับเป้าหมายของโครงการฯ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑ นั้น ในเชิงปริมาณ ระยะที่ ๑ : ภาคเรียนที่ ๑ ตั้งเป้าหมายเกิดห้องเรียนต้นแบบฯ ภายในสถานศึกษาของจังหวัดปทุมธานีทุกแห่ง (ประมาณ ๒๐๐ แห่ง) และในระยะที่ ๒ : ภาคเรียนที่ ๒ ตั้งเป้าหมายเกิดโรงเรียนต้นแบบฯ จำนวน ๖๖ แห่ง (ขยายผลจากห้องเรียนต้นแบบฯ ในภาคเรียนที่ ๑) ส่วนในเชิงคุณภาพ มุ่งหวังให้นักเรียนเกิดพัฒนาการตามแผนการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนากระบวนการคิดและการปฏิบัติจากการทำงานในชีวิตจริงให้ถูกต้องตามหลักธรรม-หลักวิชาการ เพื่อฝึกความเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ คือ นักเรียนแสดงความเคารพปฏิสันถารครู เพื่อตระหนักพระคุณของครู ฝึกสัจจะวาจาต่อครู เป็นการป้องกันรักษาศีลข้อ ๔, การทำความสะอาดโต๊ะ-เก้าอี้เรียนของตนเอง เป็นการป้องกันรักษาศีลข้อ ๑ เพราะความสะอาดทำให้มด แมลง สัตว์ ไม่มารบกวน, ฝึกจัดอุปกรณ์สิ่งของให้เป็นระเบียบ เป็นการป้องกันรักษาศีลข้อ ๒ เพราะสิ่งของที่จัดวางเป็นระเบียบ ทำให้ไม่หยิบผิด, ฝึกมารยาทการพูด การถาม-ตอบ การยืน เดิน นั่ง เป็นการป้องกันรักษาศีลข้อ ๓ เพราะกิริยามารยาทท่าทางที่สุภาพ ไม่ก่อให้เกิดการยั่วยุทางเพศ, ฝึกนั่งสมาธิก่อนเรียน ๓-๕ นาที เป็นการป้องกันรักษาศีลข้อ ๕ เพราะสมาธิและสติเป็นสิ่งคู่กัน

โดยองค์กรภาคีเครือข่ายที่กันร่วมดำเนินงานฯ ได้แก่ คณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี, สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี, วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี, ศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๒, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๔, กองการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัด/เทศบาล/ตำบล, องค์การพุทธโลก, หอการค้าจังหวัดปทุมธานี, สมาคมนักข่าวปทุมธานี, ชมรมรักษ์บวร รักษ์ศีล ๕ ปทุมธานี ในอุปถัมภ์พระเทพรัตนสุธี, ศูนย์ส่งเสริมศีลธรรมจังหวัดปทุมธานี, ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์, สมาพันธ์หมู่บ้านจัดสรรอำเภอคลองหลวง เป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประสานงานโครงการฯ สำหนักงานคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี วัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ๑๒๑๓๐ หรือผู้ประสานงานโครงการฯ นางสาวชลธิชา หาสุระ โทรศัพท์ ๐๙-๑๕๕๗-๙๗๓๓