จี้ศบค.ออกมาตรการจัดระเบียบตลาดสู้โควิด-19 แค่ขอความร่วมมือเอาไม่อยู่

0
510

จี้ศบค.ออกมาตรการจัดระเบียบตลาดสู้โควิด-19 หวั่นแค่ขอความร่วมมือเอาไม่อยู่ กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อ เสี่ยงถูกปิดทำชาวบ้านเดือดร้อน หลังพบขาดทั้งมาตรการรักษาระยะห่าง อ่างล้างมือ จำกัดทางเข้าออกเพื่อคัดกรอง และการประชาสัมพันธ์

วันนี้(16เมษายน 2563)เวลา10.00น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพงษ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง พร้อมด้วย นายชูวิทย์  จันทรส เลขานุการขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน และแกนนำเยาวชนจำนวน10 คน เข้ายื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ ศบค.ผ่านทาง นายธีรภัทร  ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสุภรณ์  อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการเร่งด่วน จัดระเบียบตลาดสด ตลาดนัด ทั่วประเทศ ลดความเสี่ยงการแพร่เชื่อโควิด -19 ทั้งนี้เครือข่ายฯได้นำอ่างล้างมือเท่าเหยียบเปิดปิดน้ำแทนการใช้มือ ที่เครือข่ายฯร่วมกับศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ผลิตขึ้นมาและเตรียมนำไปมอบนำร่องให้กับตลาดต่างๆ นำเสนอให้เป็นแนวทาง ให้ทุกตลาดติดตั้งอำนวยความสะดวกในการล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทั้งก่อนและหลังเข้าตลาด

นายชูวิทย์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเครือข่ายฯ ได้ลงพื้นที่สุ่มสำรวจตลาดสด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด กว่า 25 แห่ง พบว่าทุกตลาดทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าแทบทั้งหมดหรือเกือบ100% ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่จุดที่น่าเป็นห่วงคือขาดการรักษาระยะห่างในตลาด ส่วนใหญ่ไม่มีอ่างล้างมือด้วยสบู่ เจล และไม่มีการจำกัดทางเข้าออกเพื่อทำการคัดกรองผู้เข้าตลาด  ตลอดจนขาดการประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ของตลาดสด ตลาดนัด ณ ปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่ยังมีความสุ่มเสี่ยงกับการเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้  แม้ที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัยได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนไว้ และพยายามขอความร่วมมือ ประชาสัมพันธ์ไปยังตลาดและประชาชนแล้ว  แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมตลาดทั้งประเทศ  รวมถึงบรรดาตลาดนัดที่จดทะเบียนและยังไม่ได้รับการจดทะเบียน ตลอดจนจุดผ่อนผันที่ให้มีการขายของอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครก็ยังเป็นปัญหา ที่ลำพังการขอความร่วมมือ อาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์ความเสี่ยง

“เครือข่ายฯเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้   ด้วยการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าของตลาด ผู้ซื้อ ผู้ขาย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อรักษาตลาด แหล่งซื้อขายอาหารการกินของชาวบ้านเอาไว้ และถือเป็นโอกาสอันดีในการจัดระเบียบตลาดสด-ตลาดนัด ตลาดนอกระบบ  ให้อยู่ในระบบสามารถเข้าถึงได้โดยปลอดภัย ลดความเสี่ยงโควิด-19 เป็นผลดีในระยะยาวอีกด้วย” นายชูวิทย์ กล่าว

ด้าน นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า จากข้อห่วงในที่เกิดขึ้น เครือข่ายฯจึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้1.ขอให้ ศบค.ออกมาตรการโดยด่วน ที่มิใช่แค่ขอความร่วมมือ โดยกำหนดให้ตลาดดำเนินการให้ผู้ขายและผู้ซื้อ สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกคน กำหนดระยะห่างระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ ให้มากกว่า1-2 เมตร และกำหนดทางเข้าออกภายในพื้นที่ตลาดให้ชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม ดูแล ตลาดต้องจัดให้มีจุดล้างมือน้ำ สบู่ แบบไม่สัมผัส หรือจุดติดตั้งเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ไว้บริการล้างมือก่อนและหลังเข้าตลาด ให้ตลาดทำความสะอาดร้านค้าและอุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกวัน และมีการทำบิ๊กคลีนนิ่งตลาดอย่างน้อยทุกสัปดาห์ และสุดท้ายต้องมีสื่อประชาสัมพันธ์ สปอตเสียงตามสาย ป้ายรณรงค์ บอร์ดข้อมูลการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ให้ต่อเนื่อง 2.ขอให้จังหวัด เร่งฟื้นฟูตลาดสด-ตลาดนัด ที่ถูกสั่งปิดไปแล้วระยะหนึ่ง เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อไวรัส-โควิด 19 เข้ามาใช้บริการ ให้กลับมาเปิดบริการดังเดิม โดยผ่านการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ ตามฐานความปลอดภัย และจัดระเบียบตลาดใหม่ ทั้งนี้เพื่อคืนแหล่งซื้อขายอาหารของประชาชนและวิถีชีวิตชาวบ้านให้กลับมา ที่สำคัญยังช่วยเศรษฐกิจชุมชน ช่วยลดผลกระทบเศรษฐกิจภาพรวมได้บ้าง 3.ขอให้กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองท้องถิ่น ทำการสำรวจตลาดที่ยังอยู่นอกระบบ เพื่อดำเนินการให้อยู่ในระบบอย่างถูกต้อง  เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ4.เครือข่ายขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ บุคลากร อาสาสมัคร หน่วยงาน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการฝ่าฟันกับวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 เครือข่ายยินดีสนับสนุนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกับ ศบค.อย่างเต็มกำลัง

ขณะที่ นายธีรภัทร  ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังรับเรื่องว่า  ต้องขอบคุณเครือข่ายฯที่ห่วงใยต่อปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมเสนอแนวทางการป้องกัน ซึ่งรัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ได้มอบหมายกทม.กระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล ตลาดแหล่งอาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ตัวพี่น้องประชาชน และขอความร่วมมือประชาชนโดยเฉพาะเครือข่ายฯให้ช่วยตรวจสอบเฝ้าระวัง ส่วนข้อเสนอที่เครือข่ายฯได้ห่วงใย ตนและทีมงานจะนำเรียนให้ผู้บริหารระดับสูง ทีมงานที่ดูแลเรื่องตลาดสด ตลาดนัด โดยเฉพาะในกทม.และต่างจังหวัด เพื่อให้คนซื้อคนขายได้รักษาสุขอนามัยซึ่งเป็นพื้นฐานต่อไป

“ขณะนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการหลายอย่าง จนยอดผู้ติดเชื้อลดลง เรามีมาตรการป้องกัน ควบคุมการเดินทาง เพื่อให้ความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังคนภายในประเทศที่อาจจะแพร่เชื้อ มีหน่วยคัดกรองทุกพื้นที่ทั่วประเทศ มีทีมฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข อสม. หน่วยจิตอาสา ช่วยกันทำงาน จนตอนนี้สามารถควบคุมได้ดีในระดับหนึ่ง” นายธีรภัทร กล่าว