จัดสร้าง “ปูชนียมงคล” สร้างสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร)

0
449

พระมหาสิริชัย สุขญาโณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสามาราม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโครงการจัดสร้างสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) คลอง 9 ต.ลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระอุโบสถวัดราชบพิธฯ ทรงเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร และปูชนียมงคลเพื่อสร้างสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) สืบเนื่องจากศุภมงคลสมัย 150 ปี แห่งการสถาปนาวัดราชบพิธฯ 22 ม.ค.2563 และมงคลวาระที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จะทรงเจริญพระชนมายุ 8 รอบพระนักษัตร 26 มิ.ย. 2566 วัดราชบพิธฯ และคณะศิษยานุศิษย์ จึงร่วมกันจัดสร้างสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) ณ ที่ดินบริเวณคลอง 9 ต.ลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี

พระมหาสิริชัย กล่าวต่อไปว่า ในการนี้วัดราชบพิธฯได้จัดสร้างปูชนียมงคลเพื่อสร้างสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) ได้แก่ ชุดเหรียญพระรูปสมเด็จพระสังฆราช, ชุดมงคลบพิธ, พระผงพระรูปสมเด็จพระสังฆราช บรรจุกล่องพิมพ์พระรูปวาด 4 แบบ พุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาบูชาปูชนียมงคลโดยเสด็จพระกุศลสมทบทุนสร้างสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) สามารถติดต่อได้ที่อาคารภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ 1 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ “สมโภช 150 ปี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” อีกทั้งยังมีการเปิดให้บูชาพระผงพระรูปสมเด็จพระสังฆราชได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้สถานปฏิบัติธรรมดังกล่าว จะดำเนินการสร้างให้เป็นรมณียสถานอันสัปปายะต่อการบำเพ็ญสมณธรรมและเจริญจิตภาวนา ทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้พุทธศาสนาสำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป  โดยได้รับบริจาคที่ดินจากนางธัญรัศมิ์ นันธนวัฒน์ และครอบครัว ซึ่งจะออกแบบให้มีลักษณะศิลปกรรมแบบไทยประยุกต์ เรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอย อีกทั้งยังแบ่งพื้นที่ใช้สอยเพื่อทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จะเป็นผู้ช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ การดำเนินชีวิตไม่เบียดเบียนธรรมชาติ และพึ่งตนเอง สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ จะประกอบไปด้วยอาคารวิหาร ซึ่งเป็นอาคารประธานที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับลักษณะทางสถาปัตยกรรมพระอุโบสถและพระวิหารวัดราชบพิธ ฯ มีลักษณะเด่นที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาร่วมด้วย ตลอดจนศาลาปฏิบัติธรรมและหมู่อาคารอเนกประสงค์ เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และรองรับสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของพุทธศาสนิกชน