คณะสงฆ์จ.เพชรบูรณ์ และภาคีเครือข่ายฯ ขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ชู 3 พันธกิจ 5ส เครื่องมือ 7 แนวทางดำเนินงาน 9 แนวปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่

0
1390

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. เวลา 13.00 น. ณ ธรรมยาน ตำบลนาเฉลียง อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ พระศรีพัชโรดม เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายอัครชัย ได้ผลธัญญา ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) เพชรบูรณ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในการเปิดประชุมสัมมนา “โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข จังหวัดเพชรบูรณ์” โดยมีเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส ผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่ายฯ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปีพุทธศักราช 2562 ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมการประชุมสัมมนาฯ กว่า 700 รูป/คน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนดำเนินงานตามมติมหาเถรสมาคม(มส.) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ฝ่ายสาธารณูปการ

โอกาสนี้ พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และประธานอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ฝ่ายสาธารณูปการ ของมส. ได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ “3 พันธกิจ, 5ส เครื่องมือ, 7 แนวทางการดำเนินงาน และ 9 แนวปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่” เพื่อขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข มุ่งสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ในการสร้างสัปปายะสู่วัด ด้วยวิถี 5ส โดยมีรายละเอียดการบรรยายโดยสรุป ดังนี้

3 พันธกิจ คือ 1. การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของวัดและชุมชนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นสถานที่สัปปายะ, 2.การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ของวัดและชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ และ 3. การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญาของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา

5ส เครื่องมือในการดำเนินงานเพื่อสร้างสัปปายะสู่วัด คือ สะสาง, สะดวก, สะอาด, สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย

7 แนวทางการดำเนินงานสร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี 5ส คือ 1. ประกาศนโยบาย, 2. กำหนดคณะกรรมการ, 3. อบรมให้ความรู้, 4. สำรวจพื้นที่ จัดทำแผนผังวัด และวิเคราะห์พื้นที่เพื่อการพัฒนา, 5. จัดทำแผนปรับปรุง, 6. ลงมือปฏิบัติ และ 7. สรุปผลการดำเนินงาน

9 แนวปฏิบัติในการพัฒนาพื้นที่ 5ส ในวัด คือ 1. ป้ายชื่อวัด บริเวณหน้าวัด และแผนผังวัดโดยสังเขป, 2. การจัดการจราจร ป้ายจราจร และที่จอดรถ, 3. การจัดระบบคลังวัสดุสงฆ์ และการควบคุมการเบิก-จ่ายสิ่งของ, 4. ห้องน้ำ, 5. การจัดการขยะ, 6. สภาพแวดล้อมทั่วไป (ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัย ของพื้นที่เปิดโล่งต่างๆ ภายในวัด), 7. ระบบไฟฟ้า และการป้องกันอัคคีภัย, 8. โรงครัว และ 9. อาคารเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด