กิจกรรมมหามงคล “หลวงพี่น้ำฝน” นำพระสงฆ์ 54 รูป เจริญมนต์ ณ พระธาตุปี ‘มะเส็ง-กุน’ พุทธศาสนิกชนแห่ร่วมพิธีแน่นขนัด!!

0
714

วันนี้ (20 มิ.ย.62) พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม เปิดเผยว่า พระสงฆ์ จำนวน 54 รูป ที่อุปสมบท ณ วัดไผ่ล้อม ขณะนี้ได้เดินทางเข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ระหว่างวันที่  16 -21 มิ.ย. 62  ณ 11 พระธาตุประจำนักษัตร สำหรับวันที่ 19 มิ.ย. 62 เวลา 06.00 น. สวด ณ วัดโพธาราม หรือวัดเจดีย์เจ็ดยอด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พระธาตุประจำปีนักษัตรปีมะเส็ง

ตามประวัติความเป็นมา ผู้สร้างวัดคือ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์เม็งราย ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.1998 ใช้ศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้นเป็นเจดีย์พุทธคยา แบบสไตล์ประเทศอินเดีย เป็นสถานที่สำคัญสำหรับสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก และครั้งแรกในประเทศไทย พอสร้างเสร็จได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดมหาโพธาราม หรือ วัดโพธารามมหาวิหาร ซึ่งมาจากที่มีพระเถระชาวลังกานำต้นศรีมหาโพธิ์มาจากประเทศศรีลังกา มาปลูกในบริเวณนี้ และถือว่าต้นศรีมหาโพธิ์เป็นโพธิบัลลังก์ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ พระเจดีย์ที่นี้มีสถาปัตยกรรมที่แปลกตาไปจากพระเจดีย์อื่นๆ ทั่วไปตรงที่มีฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยปูนปั้นเทพพนมและลวดลายดอกไม้ที่มีความวิจิตรงดงาม และเนื่องจากพระเจดีย์เจ็ดยอดเป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีมะเส็ง จึงทำให้ด้านฐานองค์พระเจดีย์ เต็มไปด้วยรูปปั้นงูเล็ก(ส่วนมากเป็นงูเห่า) ที่มีผู้นำมาถวายแก้บน สำหรับพระเจดีย์นี้เป็นส่วนบนของหลังคาพระวิหารโบราณที่ปรากฏอยู่แต่ดั้งเดิม ซึ่งภายในพระวิหารมีพระประธานหลวงพ่อใหญ่ประดิษฐานอยู่ ทางทิศตะวันตกของพระวิหาร มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐ์ในซุ้มอีกองค์หนึ่ง หลังคาเป็นยอดเจดีย์ 7 ยอด ในพระวิหารมีทางขึ้นลงเพื่อขึ้นไปสักการะพระเจดีย์ พระเจดีย์องค์ใหญ่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน ส่วนเจดีย์บริวารทั้ง 4 มุมมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ และทางทิศตะวันออกของเจดีย์สี่เหลี่ยม ยังมีเจดีย์ทรงระฆังอีก 2 องค์ รวมเจดีย์ที่อยู่ด้านบนพระวิหารมีทั้งหมด 7 องค์ หรือมองเห็นเป็นเจดีย์เจ็ดยอดนั่นเอง และจึงกลายเป็นชื่อวัดที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกกันว่าวัดเจ็ดยอด

จากนั้น เวลา 17.00 น. เจริญพระพุทธมนต์ ณ พระธาตุดอยตุง พระธาตุประจำปีกุน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย  วัดพระธาตุดอยตุง อำเภอแม่จัน เป็นสถานที่ประดิษฐานพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย หรือกระดูกไหปลาร้าซึ่งนำมาจากประเทศอินเดีย ดังมีตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อ 1,000 กว่าปีล่วงมาแล้ว ประมาณ พ.ศ. 1454 พระมหากัสสปะเถระพร้อมด้วยพระเข้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธ์ ร่วมกับข้าราชบริพารได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุสถิตไว้ ณ ดอยแห่งนี้ และได้ปักตุงหรือธงบูชาพระบรมสารีริกธาตุ เป็นตุงตะขาบมีความยาวถึงพันวาปักไว้บนยอดดอยปล่อยชายตุงปลิวสะบัดถึงที่ใดให้หมายเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ดอยนี้ จึงได้ชื่อว่าดอยตุงมาจนถึงปัจจุบันนี้

พระธาตุดอยตุงเป็นปฐมเจดีย์แห่งล้านนา ตุง คือศรีเมือง ขวัญเมือง และเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา สถิตคู่พระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ตลอดมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้บูรณะองค์พระธาตุขึ้นใหม่ ตามศิลปะแบบล้านนาดั้งเดิมและได้สร้างพระธาตุองค์ใหม่ครอบองค์เดิมไว้ วัดพระมหาชินธาตุเจ้า หรือเรียกโดยทั่วไปว่า วัดพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่เรียกว่าหน้าอกของดอยนางนอน จ.เชียงราย ตามตำนานเล่าว่า พระธาตุดอยตุงสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองนครโยนกพันธุ์ พระมหากัสสปะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) แล้วมอบให้แก่ พระเจ้าอชุตราช ได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้บนดอยแห่งนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ แล้วจึงได้ให้ทำตุง มีความยาว 1,000 วา ปักไว้บนยอดเขา หากตุงปลิวไปถึงที่ใด ก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานทองคำให้พวกลาวจกเป็นค่าที่ดิน และให้พวกปีลักยู 500 ครอบครัว ดูแลรักษาพระธาตุ ต่อมาในสมัยพญามังรายแห่งราชวงศ์มังราย พระมหาวชิรโพธฺเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ พญามังรายจึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม นับจากนั้นเป็นต้นมา พระธาตุดอยตุงจึงได้มีเจดีย์สององค์มาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับในวันที่ 20 มิ.ย.62 เวลา 06.00 น. ณ พระธาตุแช่แห้ง ปีเถาะ กิ่งอำเภอภูเพียง จ.น่าน เวลา 13.00 น. พระธาตุช่อแฮ ปีขาล อ.เมือง จ.แพร่ เพื่อความเป็นสิริมงคลสืบต่อไป

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐