กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดรับสมัครเด็กติดเกม ร่วมโครงการค่ายเด็กติดเกม “ไซเบอร์ อเวนเจอร์ แคมป์”

0
401

ช่วยปรับพฤติกรรมสร้างการตระหนักรู้การเล่นเกม“หมอจิตเวชเด็กและวัยรุ่น” เผย “โรคติดเกม” ทำลายสมองไม่ต่างติดยาเสพติด เด็กไทยอาการน่าห่วงอัตราติดเกมอย่างหนักสูงกว่ายุโรปและอเมริกา พบเด็กเริ่มติดเกมอายุต่ำลงเรื่อย ๆ ส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษา กล้ามเนื้อ การคิดวิเคราะห์ การควบคุมตัวเองให้ลดต่ำลง

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563  กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แถลงข่าวโครงการค่ายเด็กติดเกม “ไซเบอร์ อเวนเจอร์ แคมป์” (Cyber Avengers Camp)โดยร่วมกับสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม คิวบิกครีเอทีฟ ดำเนินการรับสมัครเยาวชนอายุ 9-14 ปี หรือกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ป.3-ม.2 จำนวน 200 คนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าค่ายติดอาวุธป้องกันปัญหาติดเกม พร้อมเรียนรู้การใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผ่านฐานกิจกรรมสุดสนุก สอดแทรกความรู้ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และพัฒนาทักษะชีวิตไปกับนักกิจกรรมและนักจิตวิทยาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสถาบัน ระหว่างวันที่ 3-8 พฤษภาคม 2564 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ดร. ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมกำหนดทิศทางการทำงานเตรียมสังคมไทยให้พร้อมรับมือปัญหาการใช้สื่ออย่างไม่เหมาะสม และมีบทบาทการทำงานร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเห็นถึงความสำคัญของการทำงานของกองทุนฯ เรื่องเด็กและเยาวชนกับการเล่นเกม ซึ่งหากมากเกินความพอดี และเล่นเกมที่มีเนื้อหาที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศในทางที่ไม่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย

นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีภารกิจในการส่งเสริม ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานด้านการรู้เท่าทันสื่อและพัฒนาระบบเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์  ในปี 2563 คณะอนุกรรมการฯ มีการดำเนินงานภายใต้ภารกิจรวมทั้งสิ้น 7 กิจกรรม  โครงการ ค่ายเด็กติดเกม “ไซเบอร์ อเวนเจอร์ แคมป์” (Cyber Avengers Camp) เป็น 1 ในกิจกรรมภายใต้ภารกิจดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นโดยคณะอนุกรรมการที่มีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์การใช้สื่อของเด็ก เยาวชน พ่อแม่ และผู้ปกครอง ที่อาจรู้ไม่เท่าทันสื่อจนนำไปสู่ปัญหาการใช้สื่ออย่างไม่เหมาะสมโดยเฉพาะปัญหาการติดเกม  ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนควรเล่นเกมโดยมีภูมิคุ้มกัน มีการตระหนักรู้ และมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า สำนักงานกองทุนฯ ได้ขับเคลื่อนงานตามแนวคิดของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ โดยได้ร่วมมือกับสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม คิวบิกครีเอทีฟ ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดค่ายสำหรับเด็กและเยาวชนมาอย่างยาวนาน จัดค่ายเด็กติดเกม “ไซเบอร์ อเวนเจอร์ แคมป์” (Cyber Avengers Camp) ขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ป้องกันปัญหาการติดเกม และสร้างภูมิคุ้มกันในโลกอินเทอร์เน็ตให้แก่เด็กและเยาวชน โดยนอกจากการจัดค่ายแล้ว ยังมีการต่อยอด ขยายให้สังคมเกิดการรับรู้และเข้าใจถึงการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยใช้สื่อเกมอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยจะได้จัดทำซีรีส์จากค่าย “ไซเบอร์ อเวนเจอร์ แคมป์” อีกด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และภารกิจของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในสังคมไทย

รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล อาจารย์สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่นประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่า ในปี 2561 องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization: WHO ได้ประกาศให้การติดเกมเป็นโรคทางจิตเวช เพราะเมื่อสแกนสมองผู้ที่ติดสารเสพติดเปรียบเทียบกับผู้ป่วยติดเกม มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์สมองและมีจุดที่สมองทำงานบกพร่องเหมือนกัน แม้จะไม่มีการใช้สารเสพติดก็ตาม ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงโรคติดเกมของประเทศไทยนั้น พบว่า เด็กและวัยรุ่นไทยร้อยละ 15-20 มีปัญหาการเล่นเกมในจำนวนนี้ ร้อยละ 5 อยู่ในภาวะติดเกมอย่างหนัก ซึ่งมีอัตราที่สูงกว่าประเทศทางยุโรป ที่มีเด็กติดเกมอยู่เพียง ร้อยละ 1 ส่วนสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ ร้อยละ 2 โดยจำนวนเด็กติดเกมของไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ซึ่งการดูแลและปกป้องเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่ให้เป็นโรคติดเกมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสมองของมนุษย์จะพัฒนาในอัตราเร่งช่วงอายุ 1-6 ปี  และพัฒนาต่อไปถึง 18 ปี หากเด็กในช่วงวัยดังกล่าวติดเกมจะกระทบต่อพัฒนาการด้านภาษา ด้านกล้ามเนื้อ การคิดวิเคราะห์ การควบคุมตนเอง หรือความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ที่จะลดน้อยลง สิ่งที่น่าห่วง พบว่าอายุของเด็กที่เริ่มติดเกมในประเทศไทยลดน้อยลงเรื่อย ๆ จากปี 2543 เริ่มที่ระดับอุดมศึกษาปีที่ 1-2 ปัจจุบันพบเด็กติดเกมตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 4-6

รศ.นพ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ค่ายเด็กติดเกม “ไซเบอร์ อเวนเจอร์ แคมป์” (Cyber Avengers Camp) ต้องการปรับพฤติกรรมการเล่นเกมที่พอดีและเหมาะสม ส่งเสริมทักษะชีวิตในด้านต่าง ๆ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันการติดเกมให้กับเด็กและวัยรุ่นเนื่องจากแนวโน้มการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตของเด็กไทย พบว่า เด็กวัยประถมศึกษาตอนปลาย ถึงมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นกลุ่มที่มีการใช้งานมากที่สุดอีกกลุ่มหนึ่ง แต่มักขาดทักษะการรู้เท่าทันสื่อ แยกแยะวิเคราะห์ และกำกับตัวเองในการเสพสื่อเหล่านี้อย่างสร้างสรรค์และพอดีซึ่งการปรับพฤติกรรมการเล่นเกม เสริมสร้างภูมิคุ้มกันการติดเกมให้กับเด็กและวัยรุ่น ผ่านกิจกรรมค่ายฯ ในครั้งนี้ไม่เพียงแค่การทำกิจกรรมร่วมกับเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบุตรหลาน และให้สามารถดูแลเด็กในครอบครัวได้ด้วยความเข้าใจ

ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียด และกรอกใบสมัครได้ที่ www.ku.ac.th/cyberavengers ตั้งแต่วันที่ 3ธันวาคม 2563 – 31 มกราคม 2564 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้าสู่รอบออดิชั่นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-562-0951 ถึง 6 ต่อ 622588, 622597 หรืออีเมล [email protected]

QR code ใบสมัคร หรือ https://bit.ly/37gXvCd