กสศ.จับมือพศ.ทำ MOU ลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เติมโอกาสให้สามเณรได้เรียนต่อ นำร่องทดลองโรงเรียนพระปริยัติธรรม 41 แห่ง

0
646

หลังพบปัญหาเรื่องที่พักอาศัย อาหาร ค่าใช้จ่ายเดินทาง และสุขภาวะอนามัยกระทบต่อคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกันยังพัฒนาครูและโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา 50 แห่ง ตั้งเป้าขยายการช่วยเหลือครอบคลุมทั้งหมดในปี 2564 ด้านพศ.เตรียมลงนามด่วนเร่ง 64 จว.สำรวจสามเณรยากจนให้เป็นไปตามเงื่อนไขกสศ.

วันนี้ (2 กรกฎาคม 2563) ที่ห้องประชุมอาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) พร้อมนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) ร่วมลงนาม (MOU) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ดำเนินงานโครงการทดลองเพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขและพัฒนาคุณภาพครู ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

นายสุภกร กล่าวว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายตามแผนการดำเนินงานของ กสศ. ด้านการช่วยเหลือสามเณรยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งด้านที่พักอาศัย อาหาร ค่าเดินทาง บางวัดไม่มีการสนับสนุนให้เรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา อีกทั้งยังขาดแคลนทรัพยากรการเรียนการสอน ขาดสุขภาวะอนามัยที่ดี หากไม่เข้าไปช่วยเหลืออาจต้องขาดการศึกษาที่มีคุณภาพและความเจริญก้าวหน้าในทางธรรมะจึงนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน

“กสศ.และพศ.จะทดลองนำร่องกับสามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา กลุ่ม11 (ศรีษะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ) จำนวน 41 แห่ง สามเณร 1,500 รูป เพื่อหารูปแบบหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการช่วยเหลือ เนื่องจากพบว่ากลุ่มนักเรียนสามเณรไม่ได้พักอาศัยอยู่บ้านเหมือนกับนักเรียนในสังกัดสพฐ. ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบเครื่องมือและหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการเข้ามาช่วยเหลือเพื่อจัดสรรการช่วยเหลืออย่างตรงจุดและแม่นย้ำ โดยระหว่างทดลองจะนำระบบสารสนเทศมาตรวจสอบและรับรองข้อมูลเพื่อหาวิธีการคัดกรองหรือรูปแบบความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย และขยายความช่วยเหลือทั้งหมดประมาณปี 2564” นายสุภกร กล่าว

นายสุภกร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กสศ.ยังดำเนินการพัฒนาคุณภาพกลุ่มครูและโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน 50 โรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งด้านทักษะสัมมาชีพ บนพื้นฐานทรัพยากรท้องถิ่นและวิถีชีวิตชุมชน รวมถึงพัฒนาคุณภาพครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนด้านทักษะอาชีพตามความถนัดอย่างมีศักยภาพ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือศึกษาต่อสายอาชีพภายหลังสำเร็จการศึกษาภาคบังคับหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื่องจากเชื่อว่าการศึกษาจะทำให้พ้นจากความยากจนได้

นายณรงค์ กล่าวว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา มีทั้งหมด 408 แห่ง มีนักเรียนสามเณรรวม 34,634 รูป เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาส ครอบครัวยากจน จึงไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร ผู้ปกครองจึงพามาบวชเพื่อที่จะได้เรียนหนังสือ สำหรับโรงเรียนพระปริยัติธรรมพบปัญหาที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาหลายด้าน อาทิ ปัญหาด้านคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ปัญหาการขาดแคลนครู ปัญหาสุขภาพอนามัยของนักเรียนสามเณร เป็นต้น ต้องขอขอบคุณ กสศ. ที่เห็นความสำคัญและเข้ามาช่วยเติมเต็มให้นักเรียนสามเณรของเราได้รับทุนและโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยหลังจากที่ได้ลงนาม MOU แล้ว จะสั่งการให้ พศจ.ทั้ง 64 จังหวัด ที่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม ได้ทำการสำรวจจำนวนสามเณรที่มีความยากจนตามเงื่อนไขของ กสศ. เพื่อจะช่วยสนับสนุนในส่วนของข้อมูลอย่างเร่งด่วน มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยสนับสนุนและให้โอกาสทางการศึกษาแก่สามเณรให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการเรียนการสอนต่อไปในอนาคต

ด้านพระมหาวิจิตร กลฺยาณจิตฺโต ผู้จัดการโรงเรียนพระปริยัติธรรมมหาสวัสดิ์วิทยา ประธานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา กลุ่มที่ 1 กล่าวว่า สามเณรส่วนใหญ่ที่เข้ามาเรียนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มาจากครอบครัวที่ทำอาชีพเกษตรกร เมื่อเรียนจบก็กลับไปทำไร่ทำนาช่วยพ่อแม่ มีเพียงส่วนน้อยที่จะเรียนต่อไปจนถึงระดับปริญญาตรี เพราะสามเณรเข้าถึงแหล่งเงินทุนการศึกษายากกว่าคนทั่วไปจึงขาดโอกาสในการศึกษาต่อ ดังนั้นเมื่อ กสศ.ได้เข้ามาสนับสนุนเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนสามเณร จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ต่อยอดการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้ กสศ.ยังมีนโยบายลงพื้นที่อบรมครู ช่วยพัฒนาทักษะการสอนของครู และช่วยเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคนิคการสอน ที่สามารถส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านความคิดให้นักเรียนได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทั้งคุณภาพโรงเรียนและครูได้อย่างดี