“กรมศิลป์” ขอเชิญสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๐

0
6848

สำนักข่าว Thai R News – วันนี้ (วันพุธที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๐) เวลา ๐๙.๔๙ น. นายประทีป เพ็งตะโก รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเทพนพเคราะห์ โดยมีท่านพราหมณ์ คีษณพันธ์ รังสิพราหมณกุล พราหมณ์พิธี เป็นผู้ประกอบพิธี เพื่อเปิดให้ประชาชนสรงน้ำพระบรมธาตุ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ เมษายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นายประทีป เปิดเผยว่า เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสืบต่อองค์ความรู้อันเป็นรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งมีบทบาทในการเลือกสรรสืบทอดประเพณีที่เหมาะสม และเพื่อผดุงความรู้มรดกทางวัฒนธรรมเนื่องในเทศกาลสงกรานต์  จึงได้จัดกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อเริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยความเป็นสิริมงคลตามแบบแผนประเพณีที่ดีงาม โดยอัญเชิญพระธาตุประดิษฐานในพระกรัณฑ์ (พบในพระกรัณฑ์ก้านพระรัศมีพระพุทธสิหิงค์) และเทวดานพเคราะห์ ๙ องค์ มาให้ประชาชนได้สรงน้ำและกราบไหว้บูชาขอพร ทั้งนี้แต่ละคนเมื่อเกิดมาจะมีเทวดานพเคราะห์ประจำวันเกิด และในแต่ละช่วงชีวิตเทวดานพเคราะห์จะหมุนเวียนเข้าเสวยอายุ กำหนดปีการเสวยอายุตามกำลังของเทวดาแต่ละองค์  ซึ่งจะส่งผลร้ายหรือดีต่อมนุษย์ขึ้นอยู่กับประเภทของเทวดานพเคราะห์ว่าเป็นฝ่ายบาปเคราะห์หรือศุภเคราะห์ หรือความเข้ากันได้หรือไม่กับเทวดาประจำวันเกิด

เทวดานพเคราะห์ มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระอาทิตย์ ซึ่งมีบริวารอีก ๘ องค์ รวมเป็น ๙ องค์ ปกปักรักษาชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ประกอบด้วย พระอาทิตย์ทรงราชสีห์ พระจันทร์ทรงอาชา พระอังคารทรงกระบือ พระพุธทรงช้าง พระพฤหัสบดีทรงกวาง พระศุกร์ทรงโค พระเสาร์ทรงเสือ พระราหูทรงครุฑ และพระเกตุทรงนาค

สำหรับประติมากรรมเทวดานพเคราะห์ชุดนี้ หล่อขึ้นตามแบบเทวดานพเคราะห์ของไทย มีลักษณะการแต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทย หมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ ๗๐ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ และคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพบนบานประตูหน้าต่างด้านใน ของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้างเช่นกัน ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือ สามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทวดานพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง และลักษณะของเทวดานพเคราะห์ได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทวดาแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์