กรมศิลป์เร่งบูรณะ โบราณสถานในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกว่า จำนวน 83 แห่ง

0
187

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนเปิดเผยหลังจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแนวคันกันน้ำที่วัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า สถานการณ์อุทกภัยในปี 2565 นี้ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางของประเทศไทย ทำให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและมีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่านได้รับผลกระทบ ระดับน้ำได้เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาและเริ่มลดระดับลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม โดยน้ำที่ท่วมในปีนี้มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี 2554 อยู่ 35 เซนติเมตร ทำให้โบราณสถานในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีโบราณสถานอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 394 แห่ง แบ่งเป็น ในเกาะเมือง 189 แห่ง นอกเกาะเมือง 205 แห่ง โดยในปี 2565 นี้มีโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 83 แห่ง แบ่งเป็น ในเกาะเมือง 3 แห่ง นอกเกาะเมือง 80 แห่ง โดยการดำเนินการป้องกันโบราณสถานจากอุทกภัย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาในปีนี้ กรมศิลปากรได้ร่วมมือกับทางจังหวัด วัด ศาสนสถาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใน 2 พื้นที่หลักๆ ได้แก่

1.พื้นที่เกาะเมืองอยุธยาใช้แนวถนนอู่ทอง (แนวกำแพงเมืองเดิม) รอบเกาะเมืองเป็นคันป้องกันน้ำโดยในบริเวณที่ถนนมีระดับต่ำทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาจะทำการเสริมแนวถนนด้วยคันดิน ทำให้โบราณสถานเกือบทั้งหมดในเกาะเมืองซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญสูงสุดไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียง ป้อมเพชร ซึ่งอยู่นอกแนวถนนอู่ทอง และระหัดวิดน้ำกับวัดใหม่ชัยวิชิตที่ถูกน้ำซึมลอดถนนอู่ทองเข้ามา ที่ได้รับผลกระทบ

2.พื้นที่นอกเกาะเมือง ในส่วนของโบราณสถานริมแม่น้ำ เป็นโบราณสถานที่เสี่ยงต่อการเสียหายหากถูกน้ำท่วมเนื่องจากกระแสน้ำไหลแรงและมีคลื่นมากระทบตัวโบราณสถาน จึงต้องทำการป้องกัน โดยใช้แผงหรือกำแพงกันน้ำ ประกอบด้วย วัดไชยวัฒนาราม วัดธรรมราม วัดกษัตราธิราช วัดพนัญเชิง และหมู่บ้านโปรตุเกส รวมถึงโบราณสถานที่ใช้กระสอบทรายหรือคันดินในการป้องกันน้ำ ประกอบด้วย วัดศาลาปูน วัดพรหมนิวาส วัดพนมยงค์ วัดเชิงท่า และวัดท่าการ้อง และโบราณสถานที่ใช้กำแพงโบราณสถานเป็นกำแพงป้องกันน้ำ ได้แก่ วัดพุทไธสวรรย์

ส่วนโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในทุ่ง เป็นโบราณสถานที่เปิดโล่งทำแนวป้องกันน้ำได้ยากประกอบกับน้ำในทุ่งจะเป็นน้ำนิ่งไม่มีคลื่นที่จะมาทำความเสียหายกับตัวโบราณสถาน ประกอบกับโบราณสถานส่วนใหญ่ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคงไว้แล้วจึงมีความมั่นคงแข็งแรงสามารถถูกน้ำท่วมขังได้ ส่วนโบราณสถานที่ยังไม่ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคงในส่วนของโบราณสถานที่เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสูงเสี่ยงต่อการพังทลายอุทยานฯ ได้ทำการตั้งนั่งร้านเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับตัวโบราณสถานให้สามารถรองรับการถูกน้ำท่วมขังได้

นายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระหว่างน้ำท่วม กรมศิลปากร ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจตรวจตราโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบ หากโบราณสถานแห่งไหนมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายก็จะเข้าไปดำเนินการป้องกันลดผลกระทบ เช่น ที่ป้อมเพชรที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีกระแสน้ำเชี่ยวและมีคลื่นมากระทบตัวโบราณสถาน ได้ทำการผูกทุ่นแพไม้ไผ่ลดความแรงของกระแสน้ำและคลื่นที่จะมากระทบตัวโบราณสถาน ทั้งนี้ จากผลจากอุทกภัยในปีนี้ ทำให้โบราณสถานในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบจำนวน 83 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในทุ่งนอกเกาะเมืองด้านทิศเหนือ โดยกรมศิลปากร ได้มีการเตรียมการป้องกันลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโบราณสถานทำให้ไม่มีโบราณสถานแห่งใดได้รับความเสียหายจนถึงขั้นพังทลายลงมา ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโบราณสถานก็จะมีในส่วนของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น อิฐ ปูน ที่เสียหายผุกร่อนจากการถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน กับสิ่งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว เช่น ป้ายต่างๆ ม้านั่ง ถังขยะ ฯลฯ ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งทางอุทยานฯ จะดำเนินการบูรณะฟื้นฟูต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติมีโบราณสถานโบราณสถานส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบแล้ว มีเพียงโบราณสถานอีกประมาณ 20 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในทุ่งที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่บ้าง

*****************************************************************