กรมศิลปากร นำคณะสื่อมวลชนดูงานการแก้ไขปัญหา 3 โบราณสถาน “ถูกทาสีทอง”

0
1804

โชว์ผลงานการดำเนินโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมเพื่อแก้ไขปัญหาโบราณสถานในจังหวัดสุพรรณบุรี ให้ฟื้นคืนสภาพความเป็นของแท้ดั้งเดิม

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร นำคณะสื่อมวลชนดูงานผลการดำเนินโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมเพื่อแก้ไขปัญหาโบราณสถานที่ถูกทาสีทองในจังหวัดสุพรรณบุรี และความก้าวหน้าในการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานสำคัญในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดนครปฐม โดยมีนางสาวอัจฉรา แข็งสาริกิจ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี และนางสาวเกษร อินทร์ขำ  หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี กรมศิลปากร ให้การต้อนรับ

จากกรณีที่มีพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่ง ได้เข้าดำเนินการทาสีทองทับลงบนประติมากรรมตามวัดต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้ประติมากรรมเกิดความเปลี่ยนแปลง และเสื่อมคุณค่าในด้านศิลปกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี และกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมเพื่อแก้ไขปัญหาโบราณสถานที่ถูกทาสีทองในจังหวัดสุพรรณบุรี 3 แห่ง ให้คืนสภาพความเป็นของแท้ดั้งเดิม อยู่ในสภาพที่ดี แข็งแรง และมั่นคงถาวรสืบต่อไป ดังนี้

  1. โครงการอนุรักษ์ประติมากรรมใบเสมาและซุ้มประตู (ลอกสีทอง) วัดโพธาราม ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการอนุรักษ์ใบเสมาและฐานโดยรอบอุโบสถ และประติมากรรมประดับซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถและผนังซุ้มประตูทั้ง 2 ซุ้ม โดยวัดโพธาราม เดิมชื่อวัดบ้านคอย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าคอย มีบรรยากาศร่มรื่น โบราณสถานที่สำคัญของวัดโพธารามคือ วิหารภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และพระพุทธรูปหินทรายเก่าแก่ ศิลปะโบราณปางต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เป็นตัวแทนศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์สมัยรัชการที่ 5 – 6  นอกจากนี้ในพื้นที่อำเภออู่ทอง เป็นหลักฐานการตั้งชุมชนในพื้นที่บริเวณนี้ นอกจากนี้ยังเป็นที่พำนักของเกจิดังของจังหวัดสุพรรณบุรี
  1. โครงการอนุรักษ์ประติมากรรมใบเสมา (ลอกสีทอง) วัดไชนาวาส ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการอนุรักษ์ใบเสมา (ลอกสีทอง) รอบอุโบสถ จำนวน 16 ใบ โดยประวัติของวัดวัดไชนาวาสแห่งนี้ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรี เดิมเป็นวัดร้าง มีการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2394 วัดไชนาวาส แต่เดิมชื่อว่า “วัดชายนา” เพราะสมัยก่อนอยู่ห่างจากบ้านเรือนออกไปทางชายนา แต่ในปัจจุบันความเจริญครอบคลุมเข้ามาถึงตัววัด จนกลายเป็นว่าวัดไชนาวาส ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนของชาวบ้าน จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก วัดชายนา มาเป็น “วัดไชนาวาส” ซึ่งคำว่า “ชายนา” ก็มีความพ้องเสียงกับคำว่า “ไชนา” นั่นเอง โบราณวัตถุสำคัญ คือ 1. วิหาร 2. พระประธาน  3. ใบเสมา  4. เจดีย์
  2. โครงการอนุรักษ์ประติมากรรม (ลอกสีทอง) วัดลาวทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการอนุรักษ์ประติมากรรมองค์พระประธาน (หลวงพ่อดำ) และใบเสมารอบอุโบสถ ประวัติและความสำคัญของวัดลาวทอง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณ แต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า วัดเลา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดลาวทอง เนื่องจากในฝั่งทางด้านนี้มีวัดเก่าอยู่หลายวัด เช่น วัดพลายชุมพล วัดศรีมาลา วัดพลายงาม เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกันตามวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อวัดลาวทอง

เดิมนั้น วัดลาวทองเป็นวัดร้าง มีพระอุโบสถเก่า ๆ อยู่หลังหนึ่ง ซึ่งเหลือเพียงแต่ซากอิฐหักพังไม่มีหลังคา มีพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่ในพระอุโบสถ และยังมีพระเจดีย์ร้างอยู่อีกหลายองค์ สันนิษฐานว่า วัดแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายุคปลาย ปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์กลับมาเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา มีโรงเรียนประชาบาล และมีความเจริญวัดหนึ่ง โบราณสถานสำคัญ คือ 1. อุโบสถ  2. เจดีย์  3. พระพุทธรูป

นอกจากนี้ ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปศึกษาดูงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนากำแพงเมืองสุพรรณบุรี ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากโบราณสถานกำแพงเมืองคูเมืองสุพรรณบุรี เป็นโบราณสำคัญที่แสดงถึงขอบเขตที่ตั้งของเมืองสุพรรณบุรีตั้งแต่ยุคแรกเริ่มในสมัยอยุธยา จึงมีความจำเป็นต่อการรื้อฟื้นและการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม รวมถึงโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวัดพระงาม ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครปฐม ซึ่งเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในสมัยทวารวดี เพื่อนำองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมทวารวดีของเมืองนครปฐมไปใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาและอนุรักษ์โบราณสถาน ตลอดจนบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานต่อไป