กรมศิลปากร จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง วรรณกรรมอาเซียน “ศรีธนญชัย : พระเอกเจ้าปัญญา”

0
1986

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กำหนดจัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง วรรณกรรมอาเซียน “ศรีธนญชัย:พระเอกเจ้าปัญญา” เนื่องในปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน ๒๕๖๒ ในวันศุกร์ที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๗.๓๐ น. ณ ห้องประชุมใหญ่ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร

กรมศิลปากร โดยกลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กำหนดจัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง วรรณกรรมอาเซียน “ศรีธนญชัย:พระเอกเจ้าปัญญา” เนื่องในโอกาสที่ปี ๒๕๖๒ ได้รับการประกาศ ให้เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน ตามผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ ๘ ณ เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่อง ศรีธนญชัย

ในฐานะวรรณกรรมของภูมิภาคอาเซียน แลกเปลี่ยนความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและค่านิยมต่างๆ อันมีที่มาจากวรรณกรรมเรื่องนี้ ตลอดจนรวบรวบความรู้และข้อมูลที่ได้จากการสัมมนา มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่การศึกษาวรรณคดีไทย เนื่องจากเรื่องศรีธนญชัยเป็นวรรณคดีนิทาน ที่พบได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทยและยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปโดยมีตัวละครเอกซึ่งมีลักษณะเป็นคน

เจ้าปัญญาและมีเล่ห์เหลี่ยมเป็นตัวดำเนินเรื่อง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นสภาพวิถีชีวิตและค่านิยมของแต่ละชนชาติ ทั้งยังสะท้อนสภาพปัญหาในสายสัมพันธ์ของชนชั้นและสถาบันต่างๆ ในสังคมได้อย่างเฉียบคม จึงเป็นวรรณกรรมร่วมของอาเซียนที่แสดงให้เห็นความหลากหลายและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทั้งอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นและมีความเป็นสากลไปพร้อมกัน ทั้งนี้ การสัมมนา ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ภาพรวมวรรณกรรมร่วมในอาเซียน โดย ผศ.ดร.ประพจน์อัศววิรุฬหการ  ศรีธนญชัย พระเอกเจ้าปัญญาของไทย  โดย รศ.กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ การเสวนาเรื่อง ศรีธนญชัย วรรณกรรมร่วมในอาเซียน โดย ศ.ชวน เพชรแก้ว (ภาคใต้) ดร.พิศาล บุญผูก (มอญ) รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ (เขมร) ผศ.ดร.สรตี ปรีชาปัญญากุล (เวียดนาม) ผศ.ดร.ราชันย์ นิลวรรณนาภา (ลาว) ผศ.ดร.คารินา โชติรวี (ฟิลิปปินส์) และการแสดงเรื่อง “ศรีธนญชัย เชียงเมี่ยง” จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนาผ่านระบบคิวอาร์โค้ด ได้ทางเฟสบุ๊ก สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มภาษาและวรรณกรรม โทรศัพท์ ๐ ๒๔๔๖ ๘๐๔๐ – ๔๕ ต่อ ๓๐๐๑ ในวันและเวลาราชการ