กรมศิลปากร จัดประชุมโบราณคดีใต้น้ำอาเซียน ชี้หลายแห่งตกอยู่ภาวะเสี่ยงถูกทำลาย เร่งหารือความร่วมมือคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ

0
1324

วันนี้ (วันศุกร์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๒) เวลา ๐๙.๐๐ น. นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมโบราณคดีใต้น้ำอาเซียน เรื่อง การคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำและความร่วมมือทางโบราณคดีใต้น้ำอาเซียน (Underwater Cultural Heritage Protection and the Possibilityand Feasibility Study for the creation of an ASEAN Underwater Archaeology Association) โดยมีผู้แทนจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศติมอร์ตะวันออก เข้าร่วมการประชุม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ

นายอนันต์ กล่าวว่า การคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำนั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นที่รับรู้กันว่ามรดกทางวัฒนธรรมประเภทนี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน ทั้งจากการกระทำที่ขาดจิตสำนึก และผิดกฎหมายในรูปแบบต่าง ๆ  ทำให้แหล่งโบราณคดีใต้น้ำหลายแห่งในภูมิภาคอาเซียนได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย  นับเป็นการสูญเสียหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงติดต่อแลกเปลี่ยนทางด้านการค้าและวัฒนธรรมทางทะเล ทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก ซึ่งการประชุมในวันนี้จะเป็นเวทีสำคัญ ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ รับทราบปัญหา อุปสรรค เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้หาแนวทางหรือวางกฎเกณฑ์ในการแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงพิจารณาความเป็นไปได้ในการตั้งองค์กรความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิกในอาเซียน เพื่อร่วมกันป้องกันความเสี่ยงจากการทำลายแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำต่อไป

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยกองโบราณคดีใต้น้ำ ได้จัดการประชุมโบราณคดีใต้น้ำอาเซียน เรื่อง การคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำและความร่วมมือทางโบราณคดีใต้น้ำอาเซียน (UnderwaterCultural Heritage Protection and the Possibility and Feasibility Study for the creation of an ASEAN Underwater Archaeology Association) เพื่อเป็นเวทีให้สมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศรายงานสถานการณ์และความก้าวหน้าด้านโบราณคดีใต้น้ำ และการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำของประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน พบปะแลกเปลี่ยน เรียนรู้ องค์ความรู้ ข้อมูล หรือหลักฐานทางวิชาการใหม่ๆ ที่เกิดจากการศึกษา ค้นคว้า วิจัยที่เกี่ยวโยงกับโบราณคดีใต้น้ำในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนหาแนวทางที่เหมาะสมในการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำภายในภูมิภาคร่วมกัน โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่มีบทบาทและหน้าที่ด้านการศึกษาวิจัยและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ จากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ๙ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไทย เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย และผู้แทนจากประเทศติมอร์ตะวันออก เข้าร่วมการประชุม