กรมศิลปากรเปิดตัวหนังสือ “กากีคำกลอนและลิลิตกากี” มรดกวัฒนธรรมด้านวรรณศิลป์

0
962

วันนี้ (วันพุธที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๓) เวลา ๑๐.๓๐ น. นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “กากีคำกลอนและลิลิตกากี” และการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “บทมโหรีเรื่องกากีของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)” ณ ห้องประชุมใหญ่ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เรื่องกากีเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กวีไทยนำมาสร้างสรรค์เป็นร้อยกรองหลายรูปแบบทั้งคำฉันท์ กลอนสวด กาพย์เห่ คำกลอน บทเห่กล่อมพระบรรทม และลิลิต แต่ละสำนวนนับเป็นมรดกวัฒนธรรมด้านวรรณศิลป์ที่ล้ำค่าของชาติ กรมศิลปากรตระหนักถึงความสำคัญของวรรณคดีเรื่องกากี จึงได้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์หนังสือ “กากีคำกลอนและลิลิตกากี” ขึ้น เพื่อเผยแพร่วรรณคดีเรื่องสำคัญของชาติ โดยวรรณคดีเรื่องกากีที่พิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ประกอบด้วย กากีคำกลอน เนื้อหาแบ่งออกเป็น ๒ ภาค คือ ภาคต้นและภาคปลาย กากีคำกลอนภาคต้น เป็นผลงานของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กวีเอกในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กากีคำกลอนสำนวนนี้นับเป็นวรรณคดีคำกลอนเรื่องเอกของไทย ใช้เป็นบทขับร้องในวงมโหรีสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยที่แต่ง จึงเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “บทมโหรีเรื่องกากี” กรมศิลปากรตรวจสอบชำระและพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ แต่เนื่องจากมีต้นฉบับสมุดไทยเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติหลายฉบับ แต่ละฉบับมีถ้อยคำลักลั่นแตกต่างกัน กรมศิลปากรจึงตรวจสอบชำระใหม่ดังที่พิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ ส่วนกากีคำกลอนภาคปลายนั้นมีผู้ผูกเรื่องแต่งต่อจากกากีคำกลอนภาคต้นไปจนจบบริบูรณ์ พิจารณาจากสมุดไทยต้นฉบับและสำนวนกลอน น่าจะแต่งขึ้นราวรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กากีคำกลอนภาคปลายนี้กรมศิลปากรยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน

ลิลิตกากี แต่งเป็นลิลิตประกอบด้วยโคลงและร่ายแต่งสลับกัน มีโคลงท้ายเรื่องบอกไว้ว่า แต่งขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ลิลิตกากีจึงเป็นวรรณคดีเรื่องกากีอีกสำนวนหนึ่งที่ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ ผู้สนใจสามารถซื้อหนังสือ “กากีคำกลอนและลิลิตกากี” ได้ที่ร้านหนังสือกรมศิลปากร เทเวศร์ หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.bookshop.finearts.go.th จำหน่ายราคาเล่มละ ๒๓๐ บาท

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “บทมโหรีเรื่องกากีของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)” โดย ศาสตราจารย์คณพล จันทน์หอม ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีและคีตศิลป์ไทย ร่วมกับนายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้ตรวจสอบชำระเรื่องกากีคำกลอน ประกอบ‌การขับร้องบรรเลงด้วยวงมโหรีเครื่อง ๖ อันเป็นรูปแบบของวงมโหรีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีและคีตศิลป์จากวิทยาลัยเพาะช่างและสำนักการสังคีต กรมศิลปากร เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวรรณคดีไทย ซึ่งงดงามด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์อันแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางอักษรศาสตร์ของไทย พร้อมทั้งบูรณาการเข้ากับองค์ความรู้ด้านดนตรีและคีตศิลป์ เพื่อรักษาสืบทอดมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ดำรงอยู่สืบไป