กรมศิลปากรจัดโครงการวรรณคดีและประวัติศาสตร์สัญจร ต่อยอด-รับกระแสรักษ์ไทย ตามรอย “บุพเพสันนิวาส” จากอยุธยาสู่ลพบุรี

0
2912

 

วันนี้ ( ๗ เมษายน ๒๕๖๑) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดย กรมศิลปากร จัดโครงการวรรณคดีและประวัติศาสตร์สัญจร นำประชาชนผู้สนใจร่วมศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ภาษา วรรณกรรม และจารีตประเพณี สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ โบราณสถานสำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดลพบุรี

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า นวนิยายหรือบทละครอิงประวัติศาสตร์มีคุณค่าก่อให้เกิดความสนใจเรียนรู้ค้นคว้าหาข้อมูลประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตไทย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด ดังเช่น นวนิยายเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” บทประพันธ์ของ “รอมแพง” ได้ก่อให้เกิดกระแสรักษ์ไทย แต่งชุดไทย และสนใจประวัติศาสตร์ไทยอยู่ในขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากร ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลและอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทั้งแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ภาษา วรรณกรรม และจารีตประเพณี จัดกิจกรรมโครงการวรรณคดีและประวัติศาสตร์สัญจร นำประชาชนผู้สนใจร่วมศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ภาษา วรรณกรรม และจารีตประเพณีสมัยอยุธยา ณ โบราณสถานสำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดลพบุรี ระหว่างวันที่ ๗ – ๘ เมษายน ๒๕๖๑

ทั้งนี้ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านประวัติศาสตร์กับบุคคลภายนอก โดยมีสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์  สำนักการสังคีต สำนักช่างสิบหมู่ กองโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี และสำนักบริหารกลาง ร่วมบูรณาการองค์ความรู้จัดกิจกรรมทัศนศึกษาตามสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับตัวละครและในบทนวนิยาย ได้แก่ พระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดสันเปาโล วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ และบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (บ้านหลวงรับราชทูต) จังหวัดลพบุรี นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา “วรรณคดีและประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรม นายธีระ แก้วประจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และจารีตประเพณี และนางดาวรัตน์ ชูทรัพย์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ พร้อมรับฟังการบรรเลงเพลงสมัยอยุธยา จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมวันละ ๖๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑๒๐ คน โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี จารีตประเพณี สมัยอยุธยา เห็นคุณค่าความสำคัญของโบราณสถาน และสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้รับอย่างถูกต้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการธำรง รักษาจารีตประเพณี อนุรักษ์ บำรุงรักษา มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ