กรมการศาสนา จัดอบรมฝึกหัดสวดโอ้เอ้วิหารราย ดึงเยาวชนรุ่นใหม่สืบสานประเพณีโบราณ อนุรักษ์ภาษา และภูมิปัญญาไทย

0
1119

วันที่ 15 มกราคม 2563 เวลา 13.00 น. กรมการศาสนา(ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดพิธีเปิดการอบรมโครงการฝึกหัดสวดโอ้เอ้วิหารราย ณ วัดยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยมีนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา คณะครูและนักเรียนจากสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฝึกหัดสวดโอ้เอ้วิหารราย จำนวน 63 แห่ง รวมทั้งสิ้น 196 คน

นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า การสวดโอ้เอ้วิหารราย นับเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่สรรค์สร้างขึ้นตั้งแต่ในครั้งอดีต ด้วยการนำกาพย์กลอนมาช่วยในการเรียนอ่านเขียนของเด็กขั้นปฐมวัย เพื่อเป็นการปูพื้นฐานการศึกษาร่ำเรียนในขั้นสูงต่อไป ช่วยให้เด็กและเยาวชนเข้าใจหลักภาษาไทยมากขึ้น มีการสอดแทรกคติธรรมในเนื้อเรื่องที่นำมาสวด และยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการสืบทอดการสวดโอ้เอ้วิหารราย อันเป็นการสร้างค่านิยม จิตสำนึก ภูมิปัญญาของไทยให้แก่เยาวชนได้เรียนรู้และยึดถือปฏิบัติ

กรมการศาสนา ได้เริ่มดำเนินงานโครงการฝึกหัดสวดโอ้เอ้วิหารราย ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2553 เป็นต้นมา และในปีพุทธศักราช 2558 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้การสวดโอ้เอ้วิหารราย ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการสวดโอ้เอ้วิหารราย และร่วมกันสืบทอดธรรมเนียมการสวดโอ้เอ้วิหารรายมิให้สูญหายไปจากสังคมไทย

ในปี พ.ศ. 2563 กรมการศาสนาได้ดำเนินโครงการฝึกหัดสวดโอ้เอ้วิหารราย โดยมี 3 กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1. การฝึกหัดสวดโอ้เอ้วิหารราย ระหว่างวันที่ 15 – 17 มกราคม 2563 ณ วัดยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 2. การประกวดสวดโอ้เอ้วิหารราย 3. กิจกรรมสวดโอ้เอ้วิหารราย เพื่อนำนักสวดจากสถานศึกษาต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัล เข้าไปร่วมสวดโอ้เอ้วิหารราย ณ ศาลารายรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในเทศกาลเข้าพรรษา โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ๆ ละ 3 วัน ๆ ละ 12 โรงเรียน คือ เข้าพรรษา  กลางพรรษา และออกพรรษา

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อว่า การสวดโอ้เอ้วิหารรายนั้น มีขึ้นในสมัยอยุธยา ปีพุทธศักราช 2025 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งพระมหาชาติคำหลวงขึ้น 13 กัณฑ์ เพื่อใช้สวดในเทศกาลเข้าพรรษา ณ วิหารใหญ่ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ในการสวดครั้งนั้นจะคัดเลือกเฉพาะนักสวดที่เป็นราชบัณฑิต คือ ผู้ที่มีความสามารถในการสวด สามารถออกเสียง แบ่งวรรคตอนถูกต้อง รู้ความหมายของคำ และมีน้ำเสียงไพเราะ รวมทั้งมีกลเม็ดหรือลูกไม้ในการอ่าน นักสวดที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจะได้รับคัดเลือกเข้าไปสวดในวิหารใหญ่เฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัวจำนวน 3 ชุด ชุดละ 4 คน เพื่อสับเปลี่ยนกัน ส่วนผู้ที่ไม่มีความสันทัดในการสวดก็จะได้แต่สวดอยู่ตามศาลาที่รายรอบพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญ์ ผู้คนในสมัยนั้นจึงเรียกนักสวดที่ยังต้องฝึกสวดอยู่ว่าโอ้เอ้ศาลารายหรือโอ้เอ้วิหารราย

การสวดโอ้เอ้วิหารรายทำให้เยาวชนไทยได้ตระหนักและรับรู้ถึงคติธรรมที่ได้จากเนื้อเรื่องที่นำมาสวด ซึ่งในสมัยโบราณจะใช้การสวดโอ้เอ้วิหารรายเพื่อช่วยในการอ่านออกเสียงและผันวรรณยุกต์ของเด็ก อีกทั้งยังมีการสอดแทรกคติธรรมต่างๆ ไว้ในเนื้อเรื่องอีกมากมาย ถือเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่นำกาพย์กลอนมาช่วยสอนเรื่องการใช้หลักภาษาไทยให้เด็กและเยาวชน และยังเป็นการสนับสนุนให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงออกถึงการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดการสวดโอ้เอ้วิหารรายที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย