กรณีแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา : ไม่รู้.. อย่าชี้.. (หลอกด่ามหาเถรสมาคม)

0
3760

กรณีแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา : ไม่รู้.. อย่าชี้.. (หลอกด่ามหาเถรสมาคม)

  1. เรื่องนี้ พาดพิงถึงมหาเถรสมาคมโดยตรง.. ข้อหาแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดไม่ถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคม..
  2. ได้มีข่าวการคัดค้านมติมหาเถรสมาคมที่แต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทราไปแล้ว.. ด้วยเหตุผลโดยสรุป คือ..
  3. ๑. สมเด็จพระสังฆราชไม่ได้ทรงเข้าประชุมด้วย
  4. ๒. เป็นการแต่งตั้งผิดกฎมหาเถรสมาคม เพราะพระที่ได้รับแต่งตั้งมีอธิการณ์อยู่ด้วย
  5. ๓. เป็นการแต่งตั้งแบบข้ามหัว
  6. ผมไม่ได้เชียร์ใครเป็นการส่วนตัว.. ดังนั้น ผมไม่ได้อยู่ในกองเชียร์ฝ่ายไหน แต่จะกล่าวถึงว่ามติมหาเถรสมาคมถูกต้องหรือไม่ ? ตามที่ให้ข่าวกันอย่างผิดๆ จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปด้วย.. และเหล่าสาวกก็ร่วมด่าอย่างสบายมือ..
  7. จึงต้องเคลียร์ในประเด็นมติมหาเถรสมาคม ตามข้อกฎหมาย.. เพื่อไม่ให้มีการนำไปอ้างอีก.. ดีไม่ดี อาจมีรายการอาฟเตอร์ช๊อคหรือประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกรอบก็ได้.. คณะสงฆ์จะวุ่นวายไปใหญ่ เพราะไม่อ่านข้อกฎหมายให้ดี..
  8. ขอลำดับความก่อนว่า ในปีที่เสนอแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม
  9. ๑. มีการชุมนุมคัดค้านมติมหาเถรสมาคม โดยกลุ่มพระภิกษุวัด ทั้งที่เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส และลูกวัดส่วนหนึ่ง
  10. ๒. จากนั้น ก็มีการพักงานพระที่เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส และมีการตั้งกรรมการสอบพระที่มาชุมนุม
  11. เรื่องนี้ ผมอยู่ในเหตุการณ์ คือ ช่วงสนองงานมหาเถรสมาคมอยู่..
  12. การตั้งกรรมการสอบสวนเป็นไปตามข่าว.. จึงยังคิดว่า พระที่ถูกสอบทั้งหมดนั้นยังมีอธิกรณ์อยู่ (เรื่องถูกสอบ)
  13. แต่ท่านไม่ได้ทราบว่า เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถึงมรณภาพ มหาเถรสมาคมได้เห็นชอบให้แต่งตั้ง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตรวิทยาราม กทม. ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก แทน..
  14. ต่อมา เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกเห็นว่า เรื่องสอบอธิกรณ์เนิ่นนานเกินไป จึงได้เสนอมหาเถรสมาคม เพื่อคืนตำแหน่งแก่พระที่ถูกสอบทั้งหมด เรื่องสอบและอธิกรณ์จึงเป็นอันยุติไป..
  15. พระทั้งหมดที่ถูกสอบ จึงถือว่า พ้นอธิกรณ์ไปแล้ว.. ไม่มีอธิกรณ์อีกต่อไป..
  16. ตรงนี้ ผู้ไม่ติดตามข่าวจะไม่ทราบ.. หรือทราบแต่ไม่เข้าใจความหมายว่า การคืนตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส คือ การพ้นอธิกรณ์แล้ว.. ไม่มีคดีติดตัวต่อไป..
  17. เมื่อมีการเสนอ แต่งตั้งพระที่ถูกสอบในช่วงนั้น ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้เสนอตามกฎมหาเถรสมาคม คือ เจ้าคณะภาค ๑๒ โดยจะต้องเสนอผ่านเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก พิจารณานำเสนอมหาเถรสมาคม.. เจ้าคณะใหญ่เห็นว่า มีคุณสมบัติครบ จึงนำเสนอมหาเถรสมาคม และมหาเถรสมาคมมีมติอนุมัติ.. ขั้นต่อไป สำนักพุทธฯ จะทำพระบัญชา กราบทูลสมเด็จพระสังฆราชลงพระนามแต่งตั้ง ตามมติมหาเถรสมคม..
  18. การเสนอแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา มีขั้นตอนเพียงเท่านี้.. และมติมหาเถรสมาคมไม่มีขั้นตอนใดผิด..
  19. “จะผิดก็ตรงที่ไม่ถูกใจอีกฝ่ายที่เชียร์อีกรูปหนึ่ง.. และอีกคนที่ไม่ศึกษากฎมหาเถรสมาคมให้ดีพอ.. หรือรู้แต่ทำไม่รู้ แกล้งด่าตามน้ำไปเลย ทั้งที่รู้ว่าถูกต้อง.. ระดับนี้แล้ว ไม่น่าพลาดหรอก ยกเว้นเจตนาให้เห็นผิด แล้วสาวกก็ช่วยกันด่ามหาเถรสมาคม.. เรียกว่า..
  20. ได้อย่างเสรี..! โดยไม่มีใครห้ามปราม..!
  21. ส่วนกรณีที่มีผู้อ้างข้างต้นแบบข้างๆ คูๆ คือ..
  22. ๑. สมเด็จพระสังฆราชไม่ได้ทรงเข้าประชุมด้วย
  23. ๒. เป็นการแต่งตั้งผิดกฎมหาเถรสมาคม เพราะพระที่ได้รับแต่งตั้งมีอธิการณ์อยู่
  24. ๓. เป็นการแต่งตั้งแบบข้ามหัว
  25. ขอเรียนว่า..
  26. ๑. การประชุมมหาเถรสมาคมทุกครั้ง ไม่จำเป็นที่สมเด็จพระสังฆราช จะต้องเข้าประชุมทุกครั้ง เพราะบางครั้ง พระองค์มีกรณียกิจอื่นที่สำคัญและจำเป็น ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ผู้ค้านด้วยเหตุผลข้อนี้ ก็ทราบดีว่า ถ้าสมเด็จพระสังฆราช ก็จะมีสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสตามลำดับปฏิบัติหน้าที่แทน หลักการนี้เป็นหลักสากลทั่วโลก ถ้าผู้ค้านไม่รู้ก็ไปอ่านซะ (คิดว่ารู้แล้วมากกว่า แต่ขอด่าเพื่อความสะใจ)
  27. ๒. เรื่องที่พระที่ได้รับแต่งตั้งมีอธิการณ์อยู่ ทางรายการทีวีไทยพีบีเอสก็ไม่ทราบเรื่องคืนตำแหน่ง และหลวงพ่อเจ้าอาวาสอาจจะลืมไป จึงให้สัมภาษณ์ว่า มีอธิกรณ์อยู่ (ตามที่ผมอธิบายในข้อ ๒ ข้างต้น)
  28. ๓. เป็นการแต่งตั้งแบบข้ามหัว
  29. ตรงนี้ ต้องอธิบายว่า การแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดหรือรองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาคจะเป็นผู้พิจารณาเสนอ ไม่ใช่เจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดไตรมิตรวิทยาราม จะเสนอเอง ท่านทราบดี และปฏิบัติถูกต้อง..
  30. กรณีที่มีการคัดค้านว่า พระที่ได้รับแต่งตั้งไม่เคยดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดมาก่อน.. ผู้คัดค้านคงตั้งใจให้คนอ่านตามว่า ท่านพูดถูก แต่ความจริงแล้ว ไม่จำเป็น..
  31. เพราะการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด มีกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ กำหนดไว้ดังนี้
  32. ข้อ ๑๔ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
  33.  (๑) มีพรรษาพ้น ๑๐ กับมีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ
  34.  (๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒ ปี หรือ
  35.  (๓) กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ ปี (ตรงนี้ หนังสือกฎหมายสงฆ์หลายเล่ม ระบุเป็น “รองเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนั้น” ซึ่งเป็นการคัดลอกมาผิด ขอให้แก้ไขด้วย) หรือ
  36.  (๔) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ หรือเป็นพระคณาจารย์โทขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า ๖ ประโยค
  37. ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มหาเถรสมาคมอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี
  38. และจะต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ (เป็นคุณสมบัติทั่วไป /พื้นฐาน ของพระสังฆาธิการทุกรูป (ตามที่นำมาอ้างไว้ท้ายบทความนี้)
  39. ดังนั้น พระสังฆาธิการที่จำดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดได้ จะต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ ข้อ ๑๔ (๑) และ (๒) หรือ (๓) หรือ (๔)
  40. สรุปง่ายๆว่า จะต้องมีคุณสมบัติตาม
  41. ๑. ข้อ ๖ ข้อ ๑๔ (๑) และ (๒) หรือ
  42. ๒. ข้อ ๖ ข้อ ๑๔ (๑) และ (๓) หรือ
  43. ๓. ข้อ ๖ ข้อ ๑๔ (๑) และ (๔)
  44. โดยสรุปเป็นข้อความ คือ จะต้องมีพรรษาพ้น ๓๐ พรรษา และจำพรรษาในจังหวัดนั้น (ตรงนี้บังคับ) และจะต้อง..
  45. -เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดในจังหวัดนั้นมาแล้ว ๒ ปี หรือ
  46. -เป็นเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนั้นมาแล้ว ๔ ปี หรือ
  47. -เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ (เจ้าคุณชั้นสามัญ) คณาจารย์โท หรือ จบ ป.ธ. ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง
  48. ที่มีคำว่า “หรือ” ต่อท้ายทุกข้อ คือ จะมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งใน ๓ ข้อ ก็ได้ เช่น
  49. แต่งตั้ง พระมหามานพ จนทวํโส อายุ ๖๐ พรรษา ๓๒ ป.ธ. ๖ น.ธ. เอก เป็นเจ้าคณะจังหวัดที่พระมหามานพจำพรรษาอยู่ก็ได้ เพราะมีคุณสมบัติตามข้อ ๖ ข้อ ๑๔ (๑) และ (๔)
  50. เท่านี้ ก็เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคมแล้ว..
  51. ดังนั้น การแต่งตั้งพระราชาคณะชั้นราช ให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัด จึงมีคุณสมบัติครบตามข้อ ๖ ข้อ ๑๔ (๑) และ (๔) ตามกฎมหาเถรสมาคม.. ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ
  52. เจ้าคณะภาค ๑๒ ที่ควบคุมดูแลจังหวัดฉะเชิงเทรา จะพิจารณาเองว่า จะเสนอพระรูปใด ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ก็ต้องเป็นพระที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เสนอเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกคือ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตรวิทยาราม เพื่อนำเสนอมหาเถรสมาคมอนุมัติ
  53. ส่วนการจะมีเรื่องขัดแย้งภายในวัด หรือระหว่างกองเชียร์ ผมไม่สามารถบอกได้ว่า ใครผิด ใครถูก.. ? แล้วแต่จะอ้างกัน.. แต่ที่ผมเสนอคือ เรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายสงฆ์ เพื่อยืนยันว่า มติมหาเถรสมาคมไม่ผิด..!
  54. มติมหาเถรสมาคมนั้นถูกต้องแล้ว.. (แต่อาจไม่ถูกใจเท่านั้น)
  55. สำหรับเจ้าคณะพระสังฆาธิการในประเทศไทย ยังคงกล่าวได้ว่า “หน้าที่ใคร หน้าที่มัน” ขั้นตอนไหนเป็นหน้าที่ใคร ท่านก็ปฏิบัติตามนั้น..
  56. โดยไม่ต้องร้องขอมาตรา ๔๔ มาจัดการ ให้ยุ่งยาก..
  57. เรื่องในคณะสงฆ์นั้น ไม่ยุ่งยากหรอกครับ.. ที่ยุ่งยากคือเรื่องนอกคณะสงฆ์.. นั่นแหละ เพราะผลประโยชน์มันไม่เข้าใครออกใคร !
  58. ————————————–
  59. อ้างอิง : กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ
  60. ข้อ ๖ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งตามข้อ ๔ ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังต่อไปนี้
  61.           (๑) มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง
  62.           (๒) มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง
  63.           (๓) มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย
  64.           (๔) เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์
  65.           (๕) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นวัณโรคในระยะอันตรายจนเป็นที่น่ารังเกียจ
  66.           (๖) ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน
  67.           (๗) ไม่เคยถูกถอดถอนหรือถูกปลดจากตำแหน่งใด เพราะความผิดมาก่อน
  68. ข้อ ๑๔ พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้
  69.           (๑) มีพรรษาพ้น ๑๐ กับมีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ
  70.           (๒) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒ ปี หรือ
  71.           (๓) กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔ ปี หรือ
  72.           (๔) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ หรือเป็นพระคณาจารย์โทขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า ๖ ประโยค
  73.           ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มหาเถรสมาคมอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี
  74. ข้อ ๑๕ ในการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดในภาคใด ให้เจ้าคณะภาคนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๑๔ เสนอเจ้าคณะใหญ่พิจารณา เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งตามมติมหาเถรสมาคม
  75. ข้อ ๑๖ ในการแต่งตั้งรองเจ้าคณะจังหวัด ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๑๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม