กรณีวัยใสปล้นร้านทอง แนะใช้ระบบ “ครอบครัวนิเวศน์” ป้องกันปัญหาในเด็ก-เยาวชน

0
247

พระมหาบุญเลิศ  อินฺทปญฺโญ รองผอ.วิทยาลัยสงฆ์ (วส.) พุทธปัญญาศรีทวารวดี หรือ มจร วัดไร่ขิง จ.นครปฐม กล่าวถึงกรณีเด็กนักเรียนหญิง ชั้นม.6 บุกเดี่ยวปล้นร้านทอง ว่า หากมองผิวเผินก็ดูเหมือนเป็นพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรงเพื่อสนองความฟุ้งเฟ้อของเยาวชน แต่ในส่วนที่ลึกลงไปซึ่งเป็นรากเหง้าเกิดแรงกระตุ้นให้เด็กนักเรียนวัยสดใสต้องดับอนาคตตนเองด้วยการก่ออาชญากรรม ทำเรื่องที่จะเป็นตราบาปกับชีวิตตลอดไป นั่นคือความปริแตกร้าวรานของสังคมรอบข้างที่ทำให้เด็กๆ เปราะบางต่อการดำรงชีวิตอย่างรุนแรง ความปริแตกร้าวรานดังกล่าว เริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงสังคมรอบข้างที่แวดล้อมและมีอิทธิพลต่อเด็ก รวมทั้งสังคมเสมือนจริงที่ปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์ทั้งหลาย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดกระชากให้เด็กกล้าลงมือทำสิ่งเลวร้ายอย่างตั้งใจ เราพบเห็นเด็กๆ วัยที่กำลังเดินหน้าสู่การเป็นอนาคตอันยิ่งใหญ่ของชาติคนแล้วคนเล่า ตัดสินใจก่ออาชญากรรม และดับอนาคตตนเอง แต่ก็ยังไม่มีกลไกใดๆในประเทศนี้จะเอาจริงเอาจังในการออกแบบวิธีการที่จะหยุดเด็กที่จะก่ออาชญากรรมให้เหลือศูนย์ได้ เพราะมุ่งเป้าหมายในการแก้ปัญหาไปที่ตัวเด็ก โดยมองเด็กเป็นสาเหตุของปัญหา ทั้งที่การที่เด็กทำผิด มีโจทย์มากมายที่ต้องแก้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน สิ่งแวดล้อม สื่อออนไลน์ การบังคับใช้กฎหมาย การกำกับดูแลด้านวัฒนธรรม การปลูกฝังค่านิยม

พระมหาบุญเลิศ กล่าวต่อไปว่า จึงอยากเสนอแนวคิด “Eco-familization” หรือ แนวคิดระบบครอบครัวนิเวศน์  เพราะเชื่อว่า มีครอบครัวจำนวนมากที่พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก พ่อแม่เลี้ยงลูกไม่เป็น พ่อแม่เปราะบางยิ่งกว่าลูก เพราะต้องกดดันภายใต้สารพัดกระแส สถานการณ์ของครอบครัวเช่นนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดความแตกสลายของครอบครัว  แต่ปัญหาสำคัญ คือ เราจำกัดความคำว่าครอบครัวแค่เพียงขอบเขตของสมาชิกในบ้านเดียวกัน  และเมื่อสมาชิกครอบครัวของบ้านนั้นเกิดปัญหา คนรอบข้างก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องตัวเอง ดังนั้นทำไมเราไม่ขยายขอบเขตของครอบครัวให้รวมสมาชิกคนข้างบ้าน คนรอบบ้าน คนในชุมชนเข้ามาด้วย ซึ่งเรียกว่าเป็นระบบครอบครัวนิเวศน์ คือ ขยายความดูแล การใส่ใจต่อกันและกันให้กว้างขึ้น จากแค่ครอบครัวที่เป็นเพียงจำนวนสมาชิกในบ้าน ให้กลายเป็นครอบครัวที่ทุกคนรู้ร้อนรู้หนาวต่อทุกคนในระบบนิเวศน์ของชีวิตในชุมชน เมื่อเกิดกรณีครอบครัวเสี่ยงภัยเพราะความเปราะบางขึ้นมา มันจึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของสมาชิกในบ้าน แต่เป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในครอบครัวนิเวศน์ที่จะต้องขจัดปัญหา หากเราทำระบบครอบครัวนิเวศน์ขึ้นมาได้ เชื่อว่าสังคมไทยจะอยู่ด้วยกันแบบไม่ต้องมีรั้วบ้าน และไม่ต้องล๊อคกุญแจบ้าน