กรณีฉาว.!!! แต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา (ตอน 1)

0
1956

กรณีฉาว.!!! แต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา (ตอน 1)

 

เกิดเป็นประเด็นร้อนขึ้นในบัดดล !!!

เมื่อสื่อหลายสำนักรายงานข่าวว่า ที่ประชุมมหาเถรฯ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 มีมติเห็นชอบตามที่สมเด็จฯเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เสนอให้มีการแต่งตั้ง พระราชปริยัติสุนทร (อมรภิรักษ์ ปสนฺโน) เจ้าคณะอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ให้ดำรงตำแน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา พลันเกิดกระแสข่าวตามมาว่า มีการกราบทูลถึงสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธฯ เรื่องรายงานความประพฤติของพระราชปริยัติสุนทร เพื่อทรงโปรดมีพระวินิจฉัย เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2560 เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอให้แต่งตั้งพระราชปริยัติสุนทร ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา

เป็นประเด็นร้อนดังกล่าวนี้ ถูกสังคมขยายความมากมาย บ้างก็ว่า มหาเถรมีมติออกมาไม่ถูกต้อง ด้วยพระรูปดังกล่าวมีมลทินมากมาย ไม่เหมาะที่จะดำรงตำแหน่ง กรรมการมหาเถรทุกรูปควรต้องลาออกทั้งคณะ ควรยุบมหาเถร บ้างก็ว่า การนำเสนอชื่อพระรูปนี้ต่อที่ประชุมมหาเถร เป็นการกระทำถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการ บ้างก็ว่า เป็นเพราะการแก่งแย่งตำแหน่งระหว่างพระในวัดเดียวกัน ฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์  ฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์ หรือบ้างก็ปูดความเป็นมาถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของขุมอำนาจเก่าที่หวังวางฐานอำนาจให้ครอบคลุ่มทุกวัดที่มีรายได้มาก โดยเฉพาะวัดหลวงพ่อพุทธโสธรที่เป็นแหล่งรายได้มากมายประมาณว่าตกถึงวันละเฉียดล้านถึง 3 -4 ล้านบาท ในช่วงวันหยุดหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หากใครสามารถกุมอำนาจบริหารวัดแห่งนี้ได้ก็ประมาณว่ามี ขุมสมบัติมหาศาลอยู่ในกำมือ

นอกจากนี้ กลุ่มรักษ์ธรรมเมืองแปดริ้ว โดยชาวพุทธแปดริ้วยังได้ประสานพลังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2560 เรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเสนอชื่อต่อที่ประชุมมหาเถรให้มีมติแต่งตั้งฯ ควรถวายพระเกียรติสมเด็จพระสังฆราช และได้พิจารณาทบทวนมติให้เกิดความถูกต้องทั้งพระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม ช่วยรักษาภาพลักษณ์ของคณะสงฆ์ ป้องกันมิให้บุคคลใดนำไปเป็นข้ออ้างในการแก้กฎหมายสงฆ์

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการสร้างกระแสข่าว เสมือนวัวหลังหวะ ผวาเมื่อนกกาบินผ่าน หรือ กินปูนร้อนท้อง อะไรปานนั้น ออกมาสารภาพต่อสังคมว่า การซื้อขายสมศักดิ์ในวงการคณะสงฆ์ ไม่มีจริง พระภายในท่านรู้กันดี แต่คนภายนอกเท่านั้นที่ไม่รู้จริง

เมื่อสถานการณ์ร้อนเริ่มลุกลาม ขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่า (โดยส่วนตัว) หลายท่านอาจจะตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมนามปากกา “ณ. หนูแก้ว” คอลัมนิสต์ แห่งหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย เงียบหายไป ทำไมไม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์เหล่านี้บ้าง ?

ก่อนอื่นขอเรียนว่า สถานการณ์ด้านข้อมูลข่าวสารได้เปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยไปแล้ว ประกอบกับยังอยู่ระหว่างพินิจพิเคราะห์สถานการณ์ ด้วย “ณ. หนูแก้ว”นั้น เป็นผู้รู้น้อย ไม่มีดีกรีเป็นด๊อกเตอร์ เป็นศาสตราจารย์ หรือมะหง มหาเปรียญเก้า เปรียญสิบอะไรกับเขา ดังนั้นการก้าวย่างแต่ละก้าวจึงต้องระมัดวัง เนื่องจากกระแสนี้ไม่ธรรมดา

มีได้-มีเสีย ด้วยผลประโยชน์-เสียประโยชน์มูลค่าประเมินมิได้ !!

ซึ่งก็แน่นอน ต้องมีทั้งผู้เสียประโยชน์ และได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน เซียนพนันมักจะใช้คำว่า งานนี้ “มีเดิมพันสูง” มีแพ้ มีชนะ อย่างไรก็ตาม วิชาชีพก็ต้องเป็นวิชาชีพ เมื่อเราเป็นสื่อสารมวลชนโดยวิชาชีพ จึงมีสิทธิเสรีภาพการแสดงออก และควรต้องออกมาทำหน้าที่ตามครรลองครองธรรม

โดยยึดหลักจริยธรรมในวิชาชีพเป็นแนวทางปฏิบัติ !!

ประเด็นแรก ที่อยากจะกล่าวถึง คือ การที่มหาเถรมีมติเห็นชอบการเสนอชื่อพระราชปริยัติสุนทร ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทราไปแล้วนั้น มิได้เป็นความผิดพลาดขององค์คณะมหาเถรแม้แต่น้อย เนื่องจากมหาเถร “ไม่มีอำนาจหน้าที่” ในการพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อเจ้าคณะใหญ่ในหนนั้น นำเสนอเข้ามาอย่างไร ที่ประชุมก็ให้การยอมรับไปตามนั้น ดังนั้น ท่านใดก็ตามที่กล่าวหาว่ามหาเถรผิดพลาด ควรลาออกทั้งคณะ จึงเป็นการกล่าวร้ายก้าวล่วงต่อองค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์โดยไม่มีเหตุอันควร

ขออธิบายขยายความอีกนิด จารีตประเพณีการปฏิบัติในที่ประชุมมหาเถรนั้น ท่านยึดถือตามแนวทางพระวินัยเช่นเดียวกับการทำสังฆกรรมหรือการประชุมสงฆ์ เมื่อในที่ประชุมมีผู้นำเสนอเรื่องใดเข้ามาให้ที่ประชุมทราบ ไม่ว่าวาระจร หรือวาระปกติ ในที่ประชุมก็จะนิ่งเฉยกันทั้งหมด การนิ่งเฉยนี้ทางสงฆ์นั้นถือว่า “ยอมรับ” เรื่องจารีตนี้กรรมการมหาเถรทุกรูปต่างก็ทราบดีว่า “เป็นเรื่องจริง”

ยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญระหว่างธรรมยุต กับมหานิกายด้วยแล้ว ท่านต้องนิ่งเฉยกว่าสองเท่าตัว ด้วยเหตุฉะนี้แล มติเห็นชอบตามที่เสนอจึงผ่านออกมาดังที่ปรากฏ

หลวงตาพระมหาบัว เคยเทศนาโต้ตอบลูกศิษย์ว่า “ที่เราพูดไปเราไม่ผิด คนที่เอาเรื่องเท็จมาบอกเรานั่นละผิด” ฉันใดก็ฉันนั้น กรณีนี้ มหาเถรไม่ผิด ไม่ด่างพร้อย แต่กระบวนการขั้นตอนที่นำเข้ามานั่นตะหากล่ะ ถ้าจะผิดก็ผิดระหว่างนั้น หรือถ้าจะให้เว้ากันซื่อๆ ก็ต้องขอบอกว่า เอาเรื่องที่ผิดกฎ ผิดระเบียบ ผิดพระธรรมวินัย  ผิดทำนองครองธรรม หรือไม่ ? เข้าสู่ที่ประชุมมหาเถร

ถ้าขุดให้ลึกถึงต้นตอ ถึงรากเหง้าแห่งปัญหา ก็ต้องมองไปให้ชัดที่ ผู้มีอำนาจพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุที่สมควรได้รับการแต่งตั้งฯ ท่านใช้กฎเกณฑ์อะไรมาพิจารณา ถ้าใช้ “กฎกู” ทุกอย่างมันก็จบ ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าใช้กฎมหาเถรสมาคม ก็ต้องมาลองทบทวนกันดูว่า ผิดหรือถูกประการใด ?

ดังที่ว่า ถ้าใช้ “กฎกู” มันก็จบ แต่ถ้าใช้กฎมหาเถรสมาคม ก็ต้องมาดูที่กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 16 (พ.ศ.2535) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ตรี มาตรา 20 ทวิ แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 16 นี้ บัญญัติให้พระสังฆาธิการเจ้าคณะปกครองต้องดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

ส่วนผู้ที่แหกกฎ ไม่ดำเนินไปตามนี้ สังคมย่อมเคลือบแคลงเป็นธรรมดา

เมื่อศึกษากฎเกณฑ์การปกครองสงฆ์ของคณะสงฆ์ไทย จะพบว่า การแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดให้ถือปฏิบัติตาม ส่วนที่ 3 “เจ้าคณะจังหวัด” แห่งกฎมหาเถรสมาคม ข้อ 14 บัญญัติว่า “พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง” (1) มีพรรษาพ้น 10 กับมีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ (2) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่าสองปี หรือ (3) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่าสี่ปี หรือ (4) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญฯ กรณีนี้หากผู้มีใจเป็นธรรมและเข้าใจแนวปฏิบัติตามหลักวิธี ย่อมต้องพิจารณาข้อบัญญัติไปตามลำดับ 1-2-3-4 ซึ่งก็หมายถึงควรต้องพิจารณาคุณสมบัติของพระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดตาม (2) ก่อนถึงจะไปพิจารณาคุณสมบัติเจ้าคณะอำเภอตาม (3) หากไม่มีคุณสมบัติตามนี้ถึงจะไปใช้ (4) คือคัดเลือกพระผู้มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ หรือพระคณาจารย์โทขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า 6 ประโยค

หากขนาดนี้แล้วยังหาผู้มีคุณสมบัติไม่ได้อีกถึงไปที่วรรคถัดไป ตามที่บัญญัติไว้คือ “ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (2) (3) หรือ (4) ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงพิจารณาผ่อนผันให้เฉพาะกรณี” นี่ท่านวางหลักเกณฑ์ปฏิบัติไว้ดังนี้ครับ ไม่ใช่มากล่าวตู่กันให้มั่ว เที่ยวโพนทะนาเฉไฉกันไปว่า ที่ต้องคัดเลือกเอาตาม (3) ก็เพราะสามารถให้พิจารณาผ่อนผันเฉพาะกรณี

โปรดอย่ามั่ว !! อำนาจที่ผ่อนผันได้นั้นเป็นพระอำนาจของสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น

ก็เป็นเสียอย่างนี้ ถึงโดนข้อครหาว่าแต่งตั้งข้ามหัว…!!!

ขอขอบคุณท่านผู้ให้ความสนใจ โปรดติดตาม กรณีฉาว.!!! ตอน 2

ณ. หนูแก้ว