แจงปม ย้ายรูปเหมือน “อาจารย์สุชีพ” บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย เก็บไว้ที่เหมาะสมเพื่อถวายความปลอดภัยสมเด็จพระสังฆราช

0
2803

 

 

วันนี้ (12 พ.ย. 61) พระครูปลัดกวีวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร ในฐานะประธานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) ได้ชี้แจงกรณีเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนย้ายรูปเหมือน อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย ไปจากที่เคยตั้งประดิษฐาน ณ ด้านข้างทางขึ้นอาคารสุชีพปุญญานุภาพ มมร. ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะเกิดจากการเข้าใจผิด ด้วยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการกองอำนวยการร่วม ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจที่ดูแลพื้นที่ เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง และคณะผู้บริหารมมร. ได้มีการประชุมหารือเพื่อเตรียมการถวายความปลอดภัยแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) ที่มีกำหนดจะเสด็จมาเป็นประธานในพิธีประทานปริญญาบัตร ณ หอประชุมอาคารสุชีพปุญญานุภาพในวันที่ 25 พ.ย.นี้ โดยที่ประชุมเห็นว่ารูปเหมือนอาจารย์สุชีพซึ่งเป็นปูชนียุบุคคลควรที่จะยกย่องให้สูงกว่าการทำแท่นไม้ชั่วคราวอย่างที่เป็นอยู่  และเมื่อสมเด็จพระสังฆราชเสด็จความสูงก็จะอยู่ในระดับเดียวกันซึ่งไม่เหมาะสม จึงควรให้ย้ายไปเก็บไว้ในหอเกียรติยศใต้ฐานพระเจดีย์เป็นการชั่วคราว

พระครูปลัดกวีวัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเหมือนกับว่าปัญหาการสร้างรูปเหมือนอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ระหว่างสมาคมศิษย์เก่ามมร. กับผู้บริหารมมร. จะไม่ไปด้วยกันด้วยเรื่องความไม่พร้อมในการก่อสร้างฐานประดิษฐานให้ถาวรสมเกียรติต่อรูปเคารพ ด้านการหล่อรูปเหมือนพร้อมก่อนก็ทำไปก่อน แต่ทำเสร็จแล้วกลับไม่มีฐานเพื่อประดิษฐานอย่างถาวร อย่างไรก็ตามมาสเตอร์แพลนนั้นได้ทำไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ตอนนี้การก่อสร้างพระเจดีย์ก็ยังไม่เสร็จ และหอประชุมก็ยังไม่เสร็จ อย่างไรก็ตามตนไม่อยากจะตั้งข้อสังเกตไปถึงเรื่องการเมืองซึ่งระหว่างนี้ใกล้จะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมศิษย์เก่ามมร. โดยจะมีคนใหม่เข้ามาแข่งขันกับนายกฯคนเก่า

ประวัติความสำคัญของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ  สมัยเป็นพระภิกษุอยู่วัดกันตมาตุยาราม ท่านเปิดสอนวิชาพระพุทธศาสนาควบคู่กับวิชาทางโลกสมัยใหม่ให้ศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและสามเณร รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้ศึกษา ต่อมา พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้แนะนำให้ท่านรื้อฟื้นมหามกุฏราชวิทยาลัย อันเป็นวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยุบกิจการไปนานแล้ว หลังจากประสบปัญหาต่างๆ และเสนอแนะให้ท่านมาใช้สถานที่ในวัดบวรนิเวศวิหาร ท่านจึงพาลูกศิษย์มาขอใช้สถานที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อเริ่มเปิดเรียนเป็นกิจลักษณะ แม้จะมีการต่อต้านจากพระสงฆ์ผู้ใหญ่ เพราะถือว่าวิชาความรู้สมัยใหม่ เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นเดรัจฉานวิชา แต่ท่านก็สู้อดทน ด้วยวัตถุประสงค์ก็คือ ต้องการสร้างบุคลากรที่สามารถประยุกต์พุทธธรรม ให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ จนกระทั่ง ได้รับการสนับสนุนจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งได้ออกโรงสนับสนุนด้วยพระองค์เอง โดยมีพระบัญชาให้ประกาศเพื่อตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ มหาวิทยาลัยสงฆ์ ไทยในยุคใหม่

หลายสิบปีผ่านไป แม้จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์เถื่อนเพราะรัฐบาลไม่ยอมรับรอง แต่คณะสงฆ์ก็เรียกร้องรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด ปีพุทธศักราช 2527 รัฐบาลก็ตรากฎหมายรับรอง และในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งก็ได้รับการรองรับให้เป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ อย่างสมบูรณ์

อาจารย์สุชีพ มักห้ามศิษยานุศิษย์มิให้กล่าวหรือเขียนยกย่องท่านในที่สาธารณะ ตามนิสัยถ่อมตัวและรักสันโดษของท่าน จึงไม่ค่อยมีคนทราบประวัติและความดีที่ท่านทำอยู่เบื้องหลังการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์เท่าใดนัก เนื่องในงานประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกครั้งที่ 4 จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่มมร.และองค์กรพุทธชาวญี่ปุ่นร่วมเป็นเจ้าภาพจัด ระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน 2548 มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วทุกมุมโลก ดร. ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ ได้นำเสนอบทความว่าด้วยประวัติและผลงานของท่านอาจารย์สุชีพ เป็นครั้งแรกที่มีเขียนประวัติท่านเป็นภาษาอังกฤษค่อนข้างละเอียด โดยได้เชิญชวนให้บรรดาผู้นำชาวพุทธทั่วโลกที่มาร่วมชุมนุมร่วมยกย่องท่านอาจารย์สุชีพเป็น “บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย” (The Father of Modern Buddhist University in Thailand) เพื่อประกาศเกียรติคุณของท่านให้ปรากฏ

คำว่า บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย เพื่อยกย่องอาจารย์สุชีพนี้ ดร.ปฐมพงษ์ ริเริ่มนำมาใช้ในบทความชื่อ Sujib Punyanubhab: His Life and Work เป็นบทความขนาดยาว รวมอยู่ในหนังสือ Buddhist Unity in the Globalisation Age ซึ่งมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาได้จัดพิมพ์เมื่อคราวจัดประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกนั่นเอง บทความดังกล่าวเชิญชวนให้บรรดาชาวพุทธระดับผู้นำซึ่งมาประชุมพร้อมกันได้รับรู้ถึงคุณูปการที่ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้กระทำต่อพระพุทธศาสนาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กล่าวคือสมัยศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมวัตถุนิยมไหลบ่าเข้าสู่ประเทศไทยมาก ประชาชนทั่วประเทศกำลังเบนเข็มไปพัฒนาประเทศในแนววัตถุนิยม หลงลืมพระพุทธศาสนา หลายคนพูดไทยปนฝรั่ง ในขณะที่พระสงฆ์ก็เทศน์คำไทยปนคำบาลีสันสกฤต ไม่มีความรู้ในวิชาการทางโลกพอจะเข้าใจชาวบ้าน พระสงฆ์มักถูกมองว่าเป็นพวกไดโนเสาร์ของประเทศ การศึกษาของสงฆ์ไม่สัมพันธ์กับสังคมที่เปลี่ยนไป ฯลฯ