อ.ป.ก.จัดประชุมเปิดแนวทางคณะสงฆ์ขับเคลื่อนพัฒนาประสิทธิภาพงาน “อ.ป.ต.”

0
198

สำนักงานคณะกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) จัดโครงการส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) โดยมีพระสังฆาธิการ ระดับเจ้าคณะจังหวัด ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ พร้อมข้าราชการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม และองค์กรภาคีเครือข่าย เข้าร่วมประชุมแบบออนไซต์ และออนไลน์ รวม 2,300 รูป/คน

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่หอประชุมพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม สำนักงานคณะกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) จัดโครงการส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) โดยมีพระสังฆาธิการ ระดับเจ้าคณะจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการอบรมประชาชนประจำจังหวัด เลขานุการเจ้าคณะจังหวัด และผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด(ผอ.พศจ.) พร้อมคณะอนุกรรมการ เข้าร่วมประชุมสัมมนาในรูปแบบออนไชต์ จำนวน 300 รูป/คน และเจ้าคณะอำเภอ ในฐานะประธานคณะกรรมการอบรมประชาชนประจำอำเภอ ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล และพระเลขานุการ พร้อมข้าราชการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม และองค์กรภาคีเครือข่าย เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 2,000 รูป/คน

ทั้งนี้ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ประธานอ.ป.ก. ได้บันทึกเทปวีดิโอ กล่าวให้โอวาทเปิดการประชุม เนื่องจากติดศาสนกิจไม่สามารถเดินทางมาเปิดการประชุมได้ ทั้งนี้สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้เน้นย้ำแนวทางในการทำงานของอ.ป.ต. คือ 1.ต่อยอด 2.ทำให้ถูกต้อง 3.เพิ่มเครือข่ายองค์กรภาคี จากนั้นสมเด็จพระพุทธพจนวชิรมุนี (มนตรี คณิสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์ รองประธานอ.ป.ก. เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมว่า มหาเถรสมาคม(มส.) มีมติให้มีอ.ป.ก. เพื่อส่งเสริม พัฒนางานของ อ.ป.ต. รวมทั้งบูรณาการงานร่วมกับภาคราชการ การขับเคลื่อนอ.ป.ต.ต้องอาศัยสติ ปัญญา ดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วัดและพระสงฆ์ จะต้องเป็นที่พึ่งทางปัญญาให้สังคม ดังนั้นการพัฒนาอ.ป.ต.จึงนับเป็นการพัฒนาคน พัฒนาสังคมด้วย

พระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จ.นครปฐม เจ้าคณะภาค 14 ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอ.ป.ต. กล่าวว่า การขับเคลื่อนอ.ป.ต.ปัจจุบันเหลือกว่า 300 แห่ง มีอีกหลายพันแห่งยังไม่มีการดำเนินการ จึงอยากฝากพระสังฆาธิการ และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด(พศจ.)ในแต่ละพื้นที่ด้วย พร้อมกันนี้ในปีต่อไปขอให้มีการทำรายงานการดำเนินการประจำปีของอ.ป.ต. แต่ละพื้นที่ รวมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ด้วย เพราะในการลงพื้นที่ติดตามประเมินผลสามารถดู 2 โครงการดังกล่าวร่วมกันได้

ทั้งนี้สำหรับแนวทางการขับเคลื่อน อ.ป.ต.ประจำปี 2566-2570 มีดังนี้ 1.ยกระดับการพัฒนาอ.ป.ต.ให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนี้ กลุ่มที่ 1 หมายถึงกลุ่มอ.ป.ต.ที่มีการตั้งคณะกรรมการบริหารและกระบวนการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง (ประมาณร้อยละ 30 ส่วนใหญ่อยู่ในหนเหนือ หนกลางและหนตะวันออกบางพื้นที่) มีผลงานในหัวข้อธรรมหรือพันธกิจในการดำเนินการ 8 ประการ คือ ศีลธรรมและวัฒนธรรม สุขภาพอนามัย สัมมาชีพ สันติสุข ศึกษาสงเคราะห์ กตัญญูกตเวทิตาธรรม และสามัคคีธรรม อย่างครบถ้วน โดยให้ อ.ป.ต.กลุ่ม 1 เป็นตัวแทนในการขับเคลื่อนระดับจังหวัดและอำเภอ กลุ่มที่ 2 หมายถึงกลุ่มอ.ป.ต. ที่มีการตั้งคณะกรรมการบริหารและกระบวนการดำเนินการบางส่วน (ส่วนใหญ่อยู่ในทุกหน ประมาณร้อยละ 30) ดังนั้น จึงให้ปรับแผนการดำเนินการให้เหมาะสม เพื่อให้มีผลงานในหัวข้อธรรมหรือพันธกิจในการดำเนินการ 8 ประการให้ครบถ้วน และกลุ่มที่ 3 กลุ่มหน่วยอ.ป.ต. ที่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการบริหารและการดำเนินการ (อยู่ในทุกหน มีประมาณร้อยละ 30 -40 ของ อ.ป.ต.ทั้งหมด) ดังนั้น จึงให้เร่งประสานการดำเนินการตั้งกรรมการ และปรับทิศทางการเนินการให้เหมาะสมในหัวข้อธรรมหรือพันธกิจในการดำเนินการ 8 ประการ

2.พัฒนาชุดความรู้ นโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนอ.ป.ต.ที่สอดคล้องกับนโยบายของคณะสงฆ์และภาครัฐในการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น 3.พัฒนากระบวนการและกิจกรรมสร้างสรรค์ของอ.ป.ต.ให้สอดคล้องกับหัวข้อธรรม 8 ประการ รวมทั้งกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การแก้ไขปัญหาความยากจน 4.พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนอ.ป.ต.ให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสิทธิภาพในการดำเนินการสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง 5.ส่งเสริมการพัฒนาเชิงพื้นที่ร่วมกับเทศบาล อบต. และท้องที่ในการพัฒนาตำบลไปสู่ความยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างเครือข่ายของอ.ป.ต.ในการสร้างพลังชุมชนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนวิถีพุทธ 6.ประสานงานกองทุนหมู่บ้านในทุกหมู่บ้านเพื่อส่งเสริมสัมมาชีพของประชาชนในตำบล7. ส่งเสริมการเรียนรู้ของคนสามวัย ทั้งเด็ก เยาวชน คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุให้มีศักยภาพและเป็นพลังในการพัฒนาท้องถิ่น

*****************************************************************