มจร จัดงานฉลองครบ 134 ปี แห่งการสถาปนา – “มหาจุฬาฯ” ให้อะไรกับสังคม

0
598

พระเมธีธรรมาจารย์,รศ.ดร. (เจ้าคุณประสาร) รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า วันนี้ (13 ก.ย.64) มจร ได้จัดงานทางวิชาการฉลองในโอกาสครบรอบ 134 ปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เมื่อพ.ศ. 2430

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเสด็จประภาสยุโรปพระองค์ทรงเอาแบบอย่างในการพัฒนาประเทศมาใช้ในประเทศไทย ทรงยกระดับการพัฒนาในทุกๆ ด้านรวมทั้งระบบการศึกษาในแบบสมัยใหม่ด้วย ทรงเห็นว่าถ้าจะพัฒนาอะไรให้เริ่มที่คน คนหรือประชากรเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างแท้จริงและเมื่อจัดการศึกษาให้พสกนิกรได้ศึกษาเล่าเรียนเพื่อพัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศตามแบบอย่างนานาอารยประเทศแล้ว ในส่วนของคณะสงฆ์ คือพระสงฆ์สามเณรจะทำอย่างไร เมื่อชาวบ้านมีความรู้ มีการศึกษาที่ดีแล้วพระสงฆ์สามเณรก็ควรที่จะได้รับการดูแลเอาใจใส่และได้รับพระบรมราชูอุปถัมภ์ด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นแล้วพระสงฆ์จะไปเทศน์ ไปสอนชาวบ้านให้เขาเคารพนับถือได้อย่างไร จึงถือเป็นบ่อเกิดและแนวคิดในการสถาปนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อพัฒนาศักยภาพของคณะสงฆ์ไทย

คณะสงฆ์ได้จัดการศึกษาในแบบอย่างที่เป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของตัวเองมายาวนาน จนมีประวัติการต่อสู้ ดิ้นรน ปรากฏร่องรอยให้เห็นเป็นแบบอย่าง เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้ศึกษาและเรียนรู้ ล่วงมาจนถึง พ.ศ. 2540 รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติโดยความยินยอมของรัฐสภาให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและเป็นนิติบุคคล

พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวว่า วันนี้ มหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังฉลองครบ 134 ปี แห่งการสถาปนา ถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน และตลอดระยะเวลาที่ได้จัดการศึกษาโดยการผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคมและคณะสงฆ์จำนวนกว่า 67 รุ่นนั้น มหาวิทยาลัยได้มีคุณค่าและเป็นแบบอย่างอะไรให้กับสังคม นี่เป็นคำถามสำคัญที่ประชาคมชาว มจร ควรตระหนักและแสวงหาคำตอบในเชิงประจักษ์ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้บริหารและรับผิดชอบการบริหารมหาวิทยาลัยด้วยรูปหนึ่ง ได้มองเห็นและประมวลได้ ดังนี้

1.เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคมมหาวิทยาลัยได้ยึดหลักพระพุทธศาสนากับหลักวิชาการมาบูรณาร่วมกันเพื่อพัฒนานิสิตตามหลักภาวิตกาโย ภาวิตสีโล ภาวิตจิตโต และภาวิตปัญโญ โดยเล็งประโยชน์สังคมเป็นเป้าหมายสำคัญ ตามหลักพันธกิจข้อแรกของมหาวิทยาลัยคือผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม

2.เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับโลกทั้งฝ่ายเถรวาทศึกษาและมหายานศึกษา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ขยายแนวทางด้านการศึกษาและแนวทางในการสนับสนุนการศึกษาในด้านนี้ออกไปมาก เช่นมีสถาบันสมทบในต่างประเทศ 6 แห่ง โดยมีนิสิตแต่ละปีการศึกษาไม่น้อยกว่า 25,000 รูป/คน มีวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติเป็นหน่วยจัดการศึกษาหลักร่วมกับคณะทั้ง 5 คณะ คือ บัณฑิตวิทยาลัย คณะพุทธศาสตร์ ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์ เป็นที่ตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 117 สถาบันทั่วโลก เป็นที่ตั้งสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติ (UN) มีมติตั้งสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (International Council for the Day of Vesak) ให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม แห่งสหประชาชาติ นับเป็นครั้งแรกที่วงการพระพุทธศาสนาของไทยได้รับสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของ UN

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้เชื่อมโยงร้อยรัดพระพุทธศาสนาทั่วทุกมุมโลกและทุกนิกาย ทุกประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวโดยการเป็นตัวกลางในการกระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติ เช่น จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติโดยเฉพาะด้านพระพุทธศาสนา มีการแลกเปลี่ยนนิสิต อาจารย์ในหลายประเทศ การไปศึกษาดูงานเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงการเจรจาสนทนาธรรมแบบข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) และอื่นๆ อีกมากมายในแบบอย่างชาวพุทธที่พึงปฏิบัติต่อกัน

นอกจากนี้แล้วมหาวิทยาลัยยังเป็นเวทีของการศึกษาและการทำงานในแบบกัลยาณมิตรร่วมกันของคณะสงฆ์ทั้ง 2 นิกายใหญ่ คือ เถรวาทและมหายาน จนกลายเป็นมหามิตรอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในเวลานี้

3.เป็นแบบอย่างในการบริหารแบบธรรมาภิบาล โดยมหาวิทยาลัยได้ประยุกต์หลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในทุกมิติ ทั้งด้านการบริหาร ด้านการเรียนการสอนและหลักการครองตน โดยในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีระบบบริหารแบบมีธรรมาภิบาลของประเทศไทยนั้น มหาวิทยาลัยปีนี้อยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศ

4.มหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านการบริการวิชาการแก่สังคม ในพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาในด้านนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นในการให้บริการด้วยการเข้าถึงชุมชนในทุกระดับทั้งชุมชนเมืองและชนบทครอบคลุมในทุกภาคส่วนของประเทศและบุคลากรของมหาวิทยาลัยต่างก็ทำงานด้วยหลักจิตอาสาตามแบบอย่างของพระผู้เสียสละโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

5.มหาวิทยาลัยตระหนักถึงการสาธารณสงเคราะห์ เพื่อเป็นช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยไม่จำกัดศาสนา ในด้านนี้มหาวิทยาลัยไม่ได้เพิกเฉยต่อความยากลำบาก ความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ว่าจะฝนตก น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ วิกฤติโควิด-19 เป็นต้น มหาวิทยาลัยโดยองคาพยพที่มีวิทยาเขต 11 แห่ง วิทยาลัยสงฆ์ 25 แห่ง หน่วยวิทยบริการ 5 แห่งทั่วประเทศและสถาบันสมทบในต่างประเทศ 6 แห่ง ต่างก็เป็นมดงานระดมกันออกช่วยเหลือประชาชนทั้งทางด้านสิ่งของ และปัจจัย 4 และรวมทั้งธรรมะเพื่อปลุกปลอบใจในยามวิกฤติอีกด้วย

6.มหาวิทยาลัยเป็นขวัญใจคนยาก คนขาดโอกาสทางการศึกษา การที่มหาวิทยาลัยมีวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์และหน่วยวิทยบริการกระจายอยู่ในต่างจังหวัดเป็นจำนวนมากก็เพราะต้องการที่จะกระจายโอกาสทางการศึกษาให้พระภิกษุสามเณรและคนในชนบทที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ที่ตกหล่นในระบบและมีรายได้น้อยได้มีโอกาสในการฝึกฝนอบรมตนในระดับอุดมศึกษาให้มากขึ้นเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของสังคมและประเทศชาติในอนาคต

7.เป็นมหาวิทยาลัยที่พัฒนาพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีได้อธิบายความหมายว่า พุทธนวัตกรรมในด้านนี้มีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ ศาสนบุคคล ศาสนธรรม ศาสนวัตถุและศาสนพิธี ซึ่งก็ครอบคลุมถึงกรรมฐานในทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้เกิดความสุข ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาในพระพุทธศาสนาโดยใช้ปัญญาคู่กับวิทยาศาสตร์ มีงานวิจัยที่ให้น้ำหนักในเรื่องพัฒนาจิตใจและสังคม

ดังนั้น ในแผนพัฒนาอุดมศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565-2569) มหาวิทยาลัยจึงกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า ” มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ที่สร้างพุทธนวัตกรรม เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม ” ( Buddhist university with Buddhist innovation for Mental and social Development )

 

วันนี้ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังคงก้าวเดินไปข้างหน้าโดยการผลิตบัณฑิต ออกมารับใช้สังคมและคณะสงฆ์ ซึ่งนิสิตของมหาวิทยาลัยจะต้องประกอบด้วยนวลักษณ์ 9 ประการ MAHACHULA. ดังนี้

M : Morality           มีปฎิปทาน่าเลื่อมใส

A : Awereness        รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

H : Helpfulness      มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา

A : Ability               มีความสามารถในการแก้ปัญหา

C : Curiosity           มีความใฝ่รู้ ใฝ่คิด

H : Hospitality        มีน้ำใจเสียสละเพื่อส่วนรวม

U : Universality     มีวิสัยทัศน์กว้างไกล

L : Leadership    มีความเป็นผู้นำด้านจิตใจและปัญญา

A : Aspiration     มีความมุ่งมั่นพัฒนาตนให้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม

พระพรหมบัณฑิต อุปนายกสภามหาวิทยาลัยสรุปนวลักษณ์ 9 ประการไว้ว่า มีสรรถภาพ (เก่ง) คือปัญญา มีคุณภาพ (ดี) คือคุณธรรม มีสุขภาพ (มีสุข) คือปัญญา เก่ง ดี มีสุข ดังพุทธพจน์ที่ว่า สุโข ปญฺญาย ปฏิลาโภ การได้ปัญญานำสุขมาให้

“และนี่คือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนานถึง 134 ปี โดยได้เป็นแบบอย่างและสร้างคุณค่าให้กับสังคมไทยตามแบบมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาและคณะผู้บริหารก็ได้สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 สมดังพระราชปรารภของพระองค์ท่านทุกประการ” พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าว